โควิดทำคนอยากตายพุ่ง แอพพ์ SATI ช่วยรับฟังปัญหากว่า 2 พันราย/เดือน

โควิดทำคนอยากตายพุ่ง แอพพ์ SATI ช่วยรับฟังปัญหากว่า 2 พันราย/เดือน

วันที่ 10 กันยายน 2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานแถลงเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2564 โดยมีหน่วยงานและภาคีเครือข่ายเข้าร่วม เช่น กรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วม

นายสาธิต กล่าวว่า วันที่ 10 กันยายนของทุกปี จะตรงกับวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก หรือ World Suicide Prevention Day ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นความสูญเสียที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและเป็นความสูญเสียที่เราทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันได้ ซึ่งปีนี้ มีธีมในระดับนานาชาติว่า Creating Hope Through Action หรือ รวมพลังสร้างความหวัง ซึ่งเป็นการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนในสังคมมุ่งหน้าสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อผ่านวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นและลดการฆ่าตัวตาย

นพ.ณัฐกร จำปาทอง หัวหน้าศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กล่าวว่า ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติได้มีการติดตามอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมาโดยตลอด และได้ทำการพัฒนาฐานข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายให้มีความใกล้เคียงอัตราที่แท้จริงมากที่สุด ซึ่งฐานข้อมูลเดิมที่ประเทศไทยใช้มาตลอดคือ ฐานข้อมูลของมรณบัตร ซึ่งเป็นข้อมูลทางการและเป็นข้อเท็จจริง

“แต่จากการวิจัยอย่างต่อเนื่องพบว่า อัตราที่ปรากฏในมรณบัตรอาจน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจริง กรมสุขภาพจิตจึงได้ปรับการใช้ฐานข้อมูลใหม่เป็นระบบ 3 ฐาน ซึ่งเป็นการใช้ฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ประสานร่วมกับฐานข้อมูลของ สธ. และฐานข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบฐานข้อมูลทั้ง 2 ระบบ ในปี 2561 ปี 2562 และ ปี 2563 พบว่า ในระบบฐานเดี่ยว (เดิม) มีอัตราเท่ากับ 6.32 6.73 และ 7.37 ต่อแสนประชากรต่อปี ส่วนในระบบ 3 ฐาน (ใหม่) มีอัตราเท่ากับ 8.81 8.95 และ 10.08 ต่อแสนประชากรต่อปี ตามลำดับ ดังนั้น การปรับใช้ฐานข้อมูลที่มีคุณภาพสูงขึ้นจะช่วยให้ประชาชนรับทราบอัตราการฆ่าตัวตายที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด และช่วยสร้างความตระหนักมากขึ้นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน”

Advertisement

ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก และสถิติทั่วโลกย้อนหลังมีจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบ่งบอกว่า เราทุกคนต้องร่วมกันทำเรื่องนี้ให้มากขึ้น

“ในประเทศไทย มีกำแพงที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตาย คือ มุมมองด้านลบถึงคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต และคนที่กำลังมีความคิดฆ่าตัวตาย เช่น การมองว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้ชีวิต ทำให้คนที่กำลังมีความคิดอยู่ไม่กล้าเข้าสู่ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ถ้าสังคมไทยสามารถปรับมุมมองตรงนี้ได้ จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือคนที่กำลังมีปัญหาได้มากขึ้น” ศ.นพ.ชวนันท์ กล่าว

Advertisement

พ.อ.หญิงนวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสำคัญในปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายที่มีอยู่ในสังคมไทยอีกเรื่องหนึ่ง คือผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ความเสียใจอย่างมากจากความสูญเสียเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ควรกล่าวโทษตนเอง เพราะบางครั้งไม่ได้เกิดจากความละเลย ให้พยายามกลับไปดำเนินชีวิตอย่างปกติ อยากให้สังคมมองคนที่ต้องอยู่ในสภาวะนี้มากขึ้น พยายามทำความเข้าใจ ไม่กล่าวโทษซึ่งกันและกัน พยายามรับฟังกันมากขึ้น ก็จะช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้ด้วยกัน

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายนั้น เป็นประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายมาโดยตลอด ซึ่งปีนี้จะสะท้อนภาพตัวเลขที่สูงขึ้น ทั้งจากอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปรับใช้ฐานข้อมูลใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากทางวิชาการทางด้านการพัฒนาการวิจัยเรื่องการฆ่าตัวตายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านนี้

โดยในช่วงปีที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประชากรไทย ผ่านการดำเนินงานยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่

1. การเสริมสร้างความรอบรู้เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยสร้างความร่วมมือใหม่ๆ กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

2.เพิ่มความเข้มข้นด้านการคัดกรองและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย เช่น ระบบการประเมินสุขภาพจิตผ่าน Mental Health Check in การอบรมอาสาสมัครด้านสุขภาพจิต บูรณาการการคัดกรองกับหน่วยงานต่าง ๆ

3.พัฒนาเทคโนโลยีและระบบการดูแลรักษาและติดตามเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายซ้ำ เช่น การพัฒนาศักยภาพการบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในคลินิกหมอครอบครัว การจัดระบบ Telepsychiatry การใช้นวัตกรรมในการดูแลและช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่กลุ่มเสี่ยง/วิกฤต ได้แก่ ช่องทาง @Khuikun และ ระบบ HOPE Task Force

4.พัฒนากลไกการจัดการปัญหาในพื้นที่แต่ละจังหวัด

“สุดท้ายนี้ การทำงานด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายนั้นต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งแรงสนับสนุนจากภาคประชาชนจะเป็นหัวใจสำคัญของการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น กรมสุขภาพจิตจึงอยากเชิญชวนประชาชนไทยทุกคนร่วมกันพูดคุยและให้กำลังใจกับคนรอบข้างมากขึ้น สร้างความหวังให้กับตนเองและคนรอบข้าง ในการมีชีวิตอยู่เพื่อพบกันในวันพรุ่งนี้ด้วยสุขภาพจิตที่ดี และช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในสังคมไทยต่อไป” พญ.พรรณพิมล กล่าว

นายอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม (ด้านสุขภาพจิต) และผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “SATI” กล่าวว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า บางครั้งการให้กำลังใจ หรือการต่อว่าที่ไม่พยายาม ไม่ได้ช่วยคนที่คิดฆ่าตัวตาย เพราะในความคิดของคนที่กำลังอยากตายจะไม่ได้รู้สึกดีขึ้นจากสิ่งนั้น แต่จะดีขึ้นได้จากการที่มีคนพยายามรับฟัง มีความรู้สึกว่ามีคนที่พยายามเข้าใจ จากปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของการสร้างแอพพ์ SATI เพื่อให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่ในการรับฟังที่ดีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้อบรมอาสาสมัครในการรับฟังเพื่อช่วยเหลือคนที่เข้ามาใช้บริการ ในขณะนี้มีผู้ใช้บริการการรับฟังกว่า 2,000 รายต่อเดือน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image