กทม.เปิดศูนย์เทคโนโลยีจราจรฯ รับสมาร์ท ซิตี้ พ่วงเฝ้าระวังโควิด-19

กทม.เปิดศูนย์เทคโนโลยีจราจรฯ รับสมาร์ท ซิตี้ พ่วงเฝ้าระวังโควิด-19

วันนี้ (13 ก.ย.64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมระบบจราจร ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) ซึ่งปรับปรุงรูปแบบใหม่เป็น “ศูนย์ระบบเทคโนโลยีจราจรกรุงเทพมหานคร” เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีมาตรฐาน ทันสมัย เป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์ข้อมูลทางด้านจราจร (Data Center) ของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ กทม.โดย สำนักการจราจรและขนส่ง ทำการปรับปรุงศูนย์ควบคุมบริหารจัดการเดิมให้มีมาตราฐานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายปรับปรุงศูนย์ควบคุมบริหารจัดการเดิมให้เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีมาตรฐาน ทันสมัย ปรับปรุงสถานที่ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศที่ควบคุมความชื้น ระบบความปลอดภัยต่างๆ จัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Cloud Computing เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการบันทึกภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่เพิ่มขึ้นกว่าพันกล้อง) ระบบจอแสดงผล ระบบเครื่องแม่ข่ายคอมพิวเตอร์พร้อมระบบบริหารจัดการอุปกรณ์เครือข่ายเพื่อเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์ข้อมูลทางด้านจราจร (Data Center) ของกรุงเทพฯ

Advertisement

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า การปรับปรุงและติดตั้งเพิ่มดังกล่าว เป็นการสนับสนุนด้านการเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ระบบเทคโนโลยีจราจรกรุงเทพมหานคร” เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีมาตรฐาน ทันสมัย เป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์ข้อมูลทางด้านจราจร (Data Center) ของกรุงเทพฯ รองรับกรุงเทพฯ สู่การเป็น smart city และบรรลุการเป็นกรุงเทพมหานครแห่งเอเซีย Bangkok: Vibrant of Asia อีกทั้งรองรับนโยบาย Bangkok safe society สังคมปลอดภัย กรุงเทพฯ ปลอดอาชญากรรม

“สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการจราจรและด้านความปลอดภัย ปัจจุบันหน่วยงานได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยนำมาประยุกต์ใช้เพื่อความสะดวก ปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งในภารกิจดังกล่าวที่สำคัญคือ การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการวางแผนบริหารพื้นที่และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีศูนย์ควบคุมบริหารจัดการ ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุม สั่งการ กำกับ ดูแลระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทั้งสิ้น 62,076 กล้อง เชื่อมโยงสัญญาณภาพไปยัง 50 สำนักงานเขต รวมทั้งหน่วยงานราชการภายนอกเพื่อใช้ในภารกิจด้านความมั่นคง เช่น ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานด้านความมั่นคงกว่า 30 หน่วยงาน” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

Advertisement

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีการนำมาใช้ในภารกิจด้านเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเชื่อมโยงภาพไปยัง โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ด้วยการอำนวยความสะดวกและอนุญาตให้ใช้ภาพจากกล้องวงจรปิด ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ ที่ กทม.เป็นเจ้าของ นำไปวิเคราะห์การสวมหน้ากากอนามัยของประชาชนที่เดินทางสัญจรไปมา รวมถึงสามารถเฝ้าดูการรวมตัวของประชาชน และสามารถรวบรวบข้อมูลเพื่อนำมาบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image