ครูฉีดวัคซีนแล้ว 8.9 แสนราย เด็กติดเชื้อ 1.2 แสน ตาย 15 กรมอนามัยยัน ร.ร.เปิดได้ทุกพื้นที่

ครูฉีดวัคซีนแล้ว 8.9 แสนราย เด็กติดเชื้อ 1.2 แสน ตาย 15 กรมอนามัยยัน ร.ร.เปิดได้ทุกพื้นที่

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงมาตรการแซนด์บ็อกซ์ (Sand Box) ในโรงเรียน ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในกลุ่มเด็กวัยเรียน วัยรุ่น ที่อยู่ในช่วงอายุ 6-18 ปี ข้อมูลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.-11 ก.ย.64 มีผู้ติดเชื้อสะสม 129,165 ราย แบ่งเป็น เดือน เม.ย. พบ 2,426 ราย พ.ค. เพิ่มขึ้น 6,432 ราย มิ.ย. 6,023 ราย ก.ค. 31,377 ราย และ ส.ค. สูงถึง 69,628 ราย จำนวนนี้เป็นคนไทย 90% และชาวต่างชาติ 10% ผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว โดยจังหวัดที่พบการติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร รองมาเป็นปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่น แม้ว่าไม่เปิดเรียน แต่ยังพบการติดเชื้อ นั่นหมายถึงส่วนหนึ่งเกิดการติดเชื้อในครอบครัว และการสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน รวมถึงการค้นหาเชิงรุกด้วย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การรับวัคซีนโควิด-19 ในบุคลากรการศึกษา เช่น ครู บุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ข้อมูลรายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.64 พบว่า มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็ม 2 รวมกันทั้งสิ้น 897,423 รายคิดเป็น 88.3% โดยผู้ยังไม่รับวัคซีนอีก 118,889 รายคิดเป็น 11.7% ขณะที่เด็กอายุ 12-18 ปี ในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลรายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย.64 ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 จำนวน 74,932 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,241 ราย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับ ศธ. ดำเนินมาตรการแซนด์บ็อกซ์ เซฟตี้ โซน อิน สคูล (Sand Box Safety zone in School) ที่นำร่องในโรงเรียนประจำ สามารถจัดเรียนแบบไฮบริดจ์ ด้วยการเรียนออนไซต์ร่วมกับออนไลน์ คัดเลือกโรงเรียนโดยคำนึงถึง 3 ด้านสำคัญ คือ 1.การบริหารจัดการ ที่มีความพร้อมจากโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชนโดยรอบ รวมถึงได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดว่าต้องเตรียมสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน(School Isolation) จัดแบ่งโซนในโรงเรียนเป็น 1.โซนคัดกรอง 2.โซนกักกันผู้ที่มีความเสี่ยง และ 3.โซนเซฟตี้ เพื่อทำกิจกรรม ทั้งนี้ ทีมตรวจราชการบูรณาการร่วมกัน 2 กระทรวง ต้องติดตามผลการดำเนินการผ่านระบบของกระทรวงศึกษาฯ หรือ MOECOVID และ Thai Stop COVID Plus 2.ด้านบุคลากรและนักเรียน หากจะเรียนออนไซด์ นักเรียนต้องมีผลการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท(ATK) เป็นลบ ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มและแต่ละกลุ่มต้องไม่สัมผัสกัน การควบคุมกำกับเรื่องการเดินทาง รวมถึงการประเมินความเสี่ยงทั้งประวัติ พฤติกรรมและอาการเสี่ยง เป็นระยะผ่านแอพพลิเคชั่น ไทยเซฟไทยและอื่นๆ ส่วนสำคัญ คือ ทุกคนต้องป้องกันตัวเองเคร่งครัด ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า 85% สุ่มตรวจด้วย ATK เป็นระยะ หากพบผู้ติดเชื้อ จำเป็นต้องปิดเรียนต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญอย่างเคร่งครัด โดยต้องเน้นย้ำเรื่องการบริการอาหารตามหลักสุขาภิบาล

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน มาตรการแซนด์บ็อกซ์ เซฟตี้โซนอินสคูล เป็นได้อย่างดี แม้ว่าจะพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของโรงเรียน แต่เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกโรงเรียน จึงเป็นที่มีของการหารือร่วมกันระหว่าง สธ.และศธ. เพื่อกำหนดแนวทางจัดให้มีมาตรการแซนด์บ็อกซ์ เซฟตี้โซนอินสคูล ในโรงเรียนไป-กลับ โดยคำนึ่งเรื่องการระบาดในพื่นที่ตามจังหวัดกลุ่มสี ต้องสอดรับกับมาตรการที่ ศบค. และรัฐบาลกำหนด ได้แก่ 1.จังหวัดสีเขียว เน้นให้เข้ม 6 มาตรการหลักและเสริม โดยมี 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% มีการประเมินความเสี่ยงนักเรียน ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 2.จังหวัดสีเหลือง ให้เพิ่มการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 3.จังหวัดสีส้ม ให้เพิ่มการตรวจ ATK และประเมินความเสี่ยงบุคคลให้ถี่มากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

4.จังหวัดสีแดง จำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่ม 3 ข้อ คือ ให้สถานประกอบการรอบสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมินจาก Thai Stop COVID Plus ตามแนวทาง COVID Free Setting มีการทำ School Pass ของบุคคลในโรงเรียน เพื่อประเมินความเสี่ยงของบุคคลผ่านไทยเซพไทย สัปดาห์ละ 3 วัน ผลตรวจ ATK ประวัติรับวัคซีนหรือประวัติการติดเชื้อโควิดใน 1-3 เดือน และต้องจัดกลุ่มนักเรียนห้องละไม่เกิน 25 คน สุ่มตรวจ ATK ใน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 5.จังหวัดสีแดงเข้ม ให้ทำเหมือนจังหวัดสีแดงโดยเพิ่มการประเมินความเสี่ยงบุคคลผ่านแอพพ์ ไทยเซฟไทย ให้ถี่ขึ้นเป็นทุกวัน ด้วยสุ่มตรวจ ATK สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาโรงเรียนไป-กลับ ได้แก่ 1.สถานศึกษาประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop COVID Plus และรายงานผลผ่าน MOECOVID 2.ให้ทำกิจกรรมในโรงเรียนเป็นกลุ่มย่อย ลดการสัมผัสข้ามกลุ่ม 3.เน้นสุขาภิบาลอาหาร 4.จัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นตามมาตรฐาน เนื่องจากพบการติดเชื้อของรักะเรียนเพราะไปอยู่แออัดในห้องเรียน โดยเฉพาะห้องปรับอากาศ และต้องมีการจัดให้มีห้องแยกกักในโรงเรียน 5.มีแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และมีการซักซ้อมกรณีพบการติดเชื้อในโรงเรียน 6.โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต้องควบคุมการเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน ให้มีความปลอดภัย และ 7.จัดให้มี School Pass

Advertisement

“โดยรวมของมาตรการเป็นไปตามที่ ศธ.และสธ. กำหนดร่วมกันโดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เน้นย้ำว่าหากจำเป็นต้องเปิดเรียนอีกครั้ง การจำกัดคนเข้าออก การคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK การจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มย่อย การประเมินความพร้อม การสุ่มตรวจหาเชื้อบุคลากรเป็นระยะ ก็จะการหารือกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและโรงเรียน” นพ.สุววรณชัยกล่าว

เมื่อถามถึงเหตุการติดเชื้อในโรงเรียนประจำ และสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ นพ.สุวรรณชัย กล่าว รายงานดังกล่าวเกิดจากบุคคลส่วนหนึ่งที่ไปกลับ แล้วมีการติดเชื้อจากภายนอก ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับมาตรการและเข้มข้นว่าต้องคัดกรองความเสี่ยง ได้รับวัคซีน สุ่มตรวจด้วย ATK และการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีความเสี่ยงน้อยลง รวมถึงการเดินทางแบบซีลรูท(Seal Route)

เมื่อถามถึงการสนับสนุนการตรวจ ATK นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การตรวจจะถี่ตามสถานการณ์ระบาด ซึ่งการสนับสนุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 8.5 ล้านชุด ที่แจกผ่านสถานพยาบาลในพื้นที่โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลประชาชน ดังนั้น ครู นักเรียน สามารถติดต่อรับชุดตรวจได้ และ กองทุนสุขภาพระดับเพื้นที่ท้องถิ่น สาามารถจัดหาเพื่อแจกประชาชนได้ รวมถึงระดับโรงเรียนที่หารือร่วมกันกับประชาชน ผู้ปกครองเพื่อจัดหาชุดตรวจได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image