‘IMTA’ ประมงแนวใหม่ ยั่งยืน-เกื้อกูลสิ่งแวดล้อม

‘IMTA’ ประมงแนวใหม่ ยั่งยืน-เกื้อกูลสิ่งแวดล้อม

หลายๆ อาชีพ เมื่อทำมาถึงจุดหนึ่งก็มักจะมีข้อจำกัด โดยข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบไปถึงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลในวงกว้างอย่างที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง แต่ก็ใช่ว่าเมื่อเกิดผลกระทบแล้ว เราจะต้องหยุดการกระทำเรื่องนั้นๆ ไปเสียเลย เพราะหนทางผ่อนหนักเป็นเบา และวิธีการแก้ปัญหาก็ยังมีอยู่

เรื่องของการทำประมงก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ที่เมื่อหลายๆ คนต่างหันมาประกอบอาชีพทางนี้ก็จะเกิดปัญหาตามมาหลายสิ่งอย่างด้วยกัน ปัญหาใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง คือ ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง ที่หลายๆ แห่งอาหารที่ปลากินไม่หมดทำให้น้ำเน่าเสีย สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเสียหาย คือ ราคาผลิตผลที่เกิดขึ้นตกต่ำ

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า คณะประมงได้ประมวลปัญหาและพยายามหาทางออกกับเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยยังพบว่าในระบบของการทำประมงนั้น ประเทศไทยมีเรื่องของการจับและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นหลัก ซึ่งเรื่องการจับสัตว์น้ำนั้น หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีไอยูยู หรือประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมเข้าไปแก้ปัญหา และที่ผ่านมาก็จะพบว่าหลังการแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ปริมาณสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ ก็เพิ่มมากขึ้น นั่นคือ 27 กิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือลากอวน 1 ชั่วโมง ได้ปลาประมาณ 27 กิโลกรัม

Advertisement

“แต่ความจริงที่เราจะต้องยอมรับก็คือ ทะเลมีแค่นี้ หากจะจับปลาให้ได้มากขึ้น จะมากขึ้นไม่ได้มากนัก ดังนั้น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงเป็นวิธีการเพิ่มผลผลิตทางการทำประมงอีกทางหนึ่ง แต่อะไรที่ทำมากไปหรือขาดการเอาใจใส่จะมีปัญหาตามมาเสมอ อย่างเช่นการทำนากุ้งเชิงเดี่ยว ที่ทำให้ป่าชายเลนหายไปจำนวนมาก อาหารกุ้งหลายพื้นที่ทำให้น้ำเน่าเสีย และการเพาะเลี้ยงชายฝั่งเวลานี้มีพื้นที่จำกัด ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล เช่น การเลี้ยงหอย เป็นการเลี้ยงแบบเชิงเดี่ยว การเลี้ยงปลาในกระชัง อาหารที่ปลากินไม่หมด ไหลไปรวมกองสุมอยู่ที่ปากแม่น้ำ ส่งผบกระทบ เกิดแพลงตอน บรูม ตามมาเป็นประจำ” ผศ.ธรณ์กล่าว

ผศ.ธรณ์กล่าวว่า สำหรับการทำประมงแบบผสมผสานและยั่งยืน ที่ทางคณะประมง มก.กำลังจะดำเนินการแบบเต็มรูปแบบนั้น คือการทำประมงที่ทุกสิ่งเกื้อกูลกัน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนทำประมงเอง เรียกว่า Integrated Multi-Trophic Aquaculture System หรือ IMTA นั่นคือ วิธีดังกล่าวช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้การดำรงชีวิตของชาวประมงมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น วิธีการของการทำ IMTA คือการทำกระชังขนาดใหญ่ห่างจากชายฝั่ง กระชังแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนเลี้ยงปลา ซึ่ง อ.ธรณ์อธิบายว่า ทางคณะประมงเลือกที่จะใช้ปลากะพงขาว เพราะเป็นปลาพื้นถิ่นและขายง่ายที่สุด ชั้นที่ 2 จะเลี้ยงหอยแมลงภู่ เนื่องจากหอยแมลงภู่เป็นสัตว์ที่มีคุณสมบัติเป็นตัวกรองน้ำชั้นเยี่ยม และบริเวณด้านล่างของกระชังจะเป็นปลิงทะเล เพราะปลิงทะเลมีข้อดีคือ เป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูงมาก อีกอย่างคือจะเป็นตัวที่คอยกินขี้ปลา ไม่ให้หลงเหลือไปสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ ปลิงทะเลมีราคาค่อนข้างสูง เก็บขายได้ตลอดเวลา ตามแต่ขนาดที่ตลาดต้องการ ที่ปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน นอกจากนี้ บริเวณรอบๆ กระชังก็จะปลูกสาหร่ายพวงองุ่น

“ที่บอกว่า การทำประมงโดยวิธีนี้นอกจากช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว ช่วยให้ชีวิตของชาวประมงมีความเสถียรด้วย ก็คือ เลี้ยงปลากะพงกับหอยแมลงภู่ เป็นการเก็บเกี่ยวเงินงวด ขายได้เป็นงวดๆ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ส่วนปลิงนั้นจะเป็นตัวป้องกันเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น เช่น ตลาดปลากับหอยตกต่ำ แต่ปลิงนั้นไม่เคยตกต่ำ เพราะในต่างประเทศราคาปลิงทะเลตากแห้งค่อนข้างสูงมาก สำหรับสาหร่ายพวงองุ่นนั้น ถือเป็นสภาพคล่องรายวัน เพราะสามารถเก็บมาขายได้ทุกวัน เป็นตัวหล่อเลี้ยงได้ทั้งปี” ผศ.ธรณ์กล่าว

Advertisement

รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง กล่าวว่า เวลานี้ทางคณะประมงอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อทดลองในเรื่องนี้ โดยใช้พื้นที่ห่างจากชายฝั่งทะเล อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร ตัวกระชังจะมี 2 วง คือ วงนอก ประมาณ 10 เมตร วงในประมาณ 5-6 เมตร การทำระบบทุกขั้นตอนจะทำเต็มรูปแบบ นั่นคือมีระบบให้อาหารแบบออโตฟีด สั่งการผ่านระบบออนไลน์ตามปฏิกิริยาความต้องการอาหารของปลา มีเครื่องวัดความสะอาดของน้ำและปริมาณออกซิเจนในน้ำ มีกล้องใต้น้ำเพื่อตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกระชังและบริเวณรอบๆ ทั้งหมดก็เพื่อเป็นบรรทัดฐานและตัวชี้วัดว่าระบบดังกล่าวนี้จะต้องมีการลดหรือเพิ่ม หรือแก้ปัญหาอะไรส่วนไหนที่อาจจะเกิดขึ้นมาบ้าง

สำหรับการทำประมงแบบ IMTA นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายๆ ประเทศทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น นอร์เวย์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ส่วนการทำประมงแบบ IMTA จะคุ้มค่าคุ้มทุนสำหรับการทำประมงในประเทศไทยหรือไม่ ผศ.ธรณ์เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยสำหรับโครงการนี้คือ การทำงานวิจัย เพื่อหาคำตอบว่าทั้งหมดจะเกิดความคุ้มทุนหรือไม่ เพราะในการทดลองนั้น ต้องซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จากเมืองนอก ราคาค่อนข้างสูง ซึ่งหากผลสรุปออกมาแล้วเป็นไปในทางบวก ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ราคาต่ำกว่านี้ สำคัญที่สุดคือ ผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องของการทำให้อาชีพประมงมีความยั่งยืน เสมอต้น เสมอปลาย นับเป็นการประสบความสำเร็จที่ทุกคนปรารถนานั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image