คาดกลาง ต.ค.ผู้ป่วยพุ่ง! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ จับมือ 2 รพ. พัฒนาแอนติไวรัสโควิด

คาดกลาง ต.ค.ผู้ป่วยพุ่ง! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ จับมือ 2 รพ. พัฒนาแอนติไวรัสโควิด พร้อมนำเข้ายากลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี 4 พันโดส ใช้สกัดอาการรุนแรง

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสมาคมวิชาชีพ และสถาบันทางการแพทย์ แถลงถึงการรับมือโรคโควิด-19 ในปัจจุบันและอนาคต ว่า ในช่วงแรกที่มีการระบาดใหม่ เราตกใจกลัว เพราะไม่มีทั้งยา วัคซีน ตรวจหาเชื้อยังไม่ได้ง่ายนัก แต่หากเรามีวัคซีนป้องกัน มีการตรวจที่ง่ายและรวดเร็ว และมียารักษา ทั้ง 3 ครบสะดวก โรคนี้จะกลายเป็นโรคทั่วไป ขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ โดยใช้ยาที่รักษาไข้หวัดและโรคติดเชื้ออีโบลา คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ราชวิทยาลัยฯ ก็ได้จัดหามาตั้งแต่ต้น แต่ปัญหาของการใช้คือ ยาเป็นเม็ดส่งผลกับเด็กและผู้ที่มีปัญหาการกลืน เมื่อนำไปบดก็ได้ขนาดยาที่ไม่แน่นอน จึงร่วมมือกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หาตำรับยาน้ำ เป็นที่มาของยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ เป็นประโยชน์กับเด็กที่มีการติดเชื้อมากขึ้น แม้อาการไม่หนักแต่หากรับการรักษาช้าก็เกิดปัญหาได้

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ในวงการแพทย์มีการพัฒนาวัคซีนไม่ได้หยุด ไม่ได้มีเพียงที่เราพูดกันในตอนนี้ แต่พัฒนาทุกชั่วโมง ยาก็เช่นเดียวกัน อีกไม่นานก็จะออกมาใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน ส่วนยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) ที่มีความเฉพาะ เนื่องจากเป็นยาสังเคราะห์เข้าไปจับกับส่วนหนึ่งของไวรัส ทำให้ไม่สามารถเข้าเซลล์ร่างกายมนุษย์ได้ ฉะนั้น หากใช้รักษาในระยะต้นที่เริ่มมีอาการก็จะช่วยให้คนไข้หายเร็ว อาการไม่รุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ และทำให้การดูแลรักษาโรคง่ายขึ้น ไม่เป็นภาระของระบบสาธารณสุขมากเกินไปนัก

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ เป็นหน่วยงานที่อยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ นายกฯ และ ศบค.จึงกำหนดให้ราชวิทยาลัยฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งในการจัดหายา วัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 โดยเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากการจัดหาวัคซีนช่วงแรกยังมีปัญหาอยู่

“ราชวิทยาลัยฯ ก็เข้าไปช่วยหาวัคซีนทางเลือก คือ ซิโนฟาร์ม เพื่อมาปิดช่องว่างของวัคซีนในระยะนั้น ซึ่งจะเราเริ่มจะถอยออกแล้ว เพราะวัคซีนหลักของประเทศเข้ามาเพียงพอ ดังนั้น บทบาทราชวิทยาลัยฯ ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ แต่เป็นองค์กรในกำกับ มีระเบียบมีข้อบังคับที่เราสามารถทำอะไรได้คล่องตัว ก็จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยรัฐบาล ช่วยสังคม ทำงานร่วมทุกหน่วยงานในการเข้ามาปิดช่องว่างในการดูแลรักษาโรคให้ได้” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน จะหารือกันในการรักษาด้วยยาชนิดหนึ่ง คือ โมโนโคลนอลแอนติบอดี ซึ่งจะนำมาช่วยคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นโรคนี้ด้วย เรามีส่วนจัดหานำเข้าและกระจายโมโนโคลนอลแอนติบอดี เรียกว่า แอนติบอดี คอกเทล ซึ่งเป็นตัวแรกที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยจะให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการน้อยถึงปานกลาง ที่มีความเสี่ยงชีวิต เพราะจะช่วยลดการเข้ารพ. และไอซียูได้ เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิดและโรคอื่นๆ ได้ ราชวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการขณะนี้คือ เป็นคนนำเข้าและกระจายยาแอนติบอดี คอกเทล ให้ รพ.ต่างๆ และเรายังร่วมกับ รพ.อีก 2-3 แห่ง ที่จะวิจัยยาแอนติไวรัสตัวใหม่ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยมองว่าจะถึงเป้าเร็วกว่าคนอื่น ประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบยานั้นด้วย

ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรสาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่ประเทศไทย ในพระบรมราขูปถัมภ์ กล่าวว่า ในการระบาด 2 เดือนที่ผ่านมา จริงๆ ตัวเลขของประเทศไทยขึ้นไปเกือบ 3 หมื่นรายต่อวัน ซึ่งยังไม่การตรวจด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) บทบาทของสมาคมอุรเวชช์ฯ ที่ดูแลโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งโควิด-19 ก็พบอาการปอดอักเสบมาก ในช่วงระบาดรอบ 1 และรอบ 2 เรายังไม่เห็นความรุนแรงนัก เพราะผู้ติดเชื้อไม่มาก แต่ในระบาดรอบ 3 เดือนมิถุนายน 2564 ที่ยอดพุ่งสูง สายพันธุ์เดลต้ามีการติดเชื้อมาก ปอดอักเสบรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 5 ต้องใช้เตียงไอซียู เครื่องช่วยหายใจมาก ดังนั้น เราเห็นได้ว่าหากมีจำนวนผู้ป่วยมาก ก็จะมีจำนวนป่วยปอดอักเสบมากเป็นเงาตามตัว ก็ทำให้ความตึงมือ ล้นศักยภาพการแพทย์ เต้องหาวิธีต่างๆ ไม่ให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้ระบบสุขภาพยืนอยู่ได้

Advertisement

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า การขยายศักยภาพดูแลผู้ป่วยวิกฤต ขยายไอซียูทั้งโรงพยาบาล (รพ.) หลัก และ รพ.สนาม การให้ออกซิเจนให้เพียงพอทั้งเครื่องไฮโฟล์ว เครื่องช่วยหายใจ หากเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีโรคแทรกจะใช้เวลาเฉลี่ย 7-10 วัน ส่วนเป็นผู้สูงอายุมีโรคแทรก จะใช้เวลานานขึ้นและผลการรักษาไม่ค่อยดี อาจใช้เวลา 10-30 วัน ดังนั้น ลดการเจ็บป่วยในกลุ่มเสี่ยงจะเป็นวิธีดีที่สุด

ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง อาจสบายใจขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อมีผู้ป่วยอาการหนัก ร้อยละ 5 ที่ต้องอยู่ไอซียู สัดส่วนเช่น ผู้ป่วย 1 หมื่นราย จะมีคนเข้าไอซียูใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า 500 ราย

“แต่หากเพิ่มทุกวัน วันละกว่าหมื่นราย ก็จะคูณ 14 ทบไปเรื่อยๆ ดังนั้น เราต้องลดคนป่วยใหม่ให้มากที่สุด แต่เมื่อเราเริ่มเปิดกิจกรรมมากขึ้น คาดการณ์กลางเดือนตุลาคมนี้ อาจเห็นคนป่วยเพิ่มขึ้น ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัย การอยู่บ้านที่เรารณรงค์กันมาตลอด บางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมโทษประชาชน แต่ความจริงแล้ว ผมคิดว่า ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล แต่เชื้อมันแพร่จากคนสู่คน การป้องกันนั้น แม้รัฐบาลนโยบายดีอย่างไร แต่หากประชาชนไม่ร่วมมือ เชื้อก็แพร่อยู่ดี ” ผศ.นพ.กำธร กล่าวและว่า ประการต่อมาคือ พยายามเพิ่มการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด แต่อย่างที่รู้กันว่าวัคซีนไม่ได้กันติด ฉีดแล้วยังติดได้ แต่โอกาสมีอาการหนักก็น้อยกว่าคนไม่ได้ฉีดมาก ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยมาก แต่ก็มีคนได้รับวัคซีนไปมากแล้วเช่นกัน อาจจะมีทั้งเข็มที่ 1 หรือครบ 2 เข็มแล้ว แต่ก็เห็นเลยว่า แม้จะได้วัคซีนเพียง 1 เข็ม แต่ความรุนแรงของโรคก็น้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก

ผศ.นพ.กำธร กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเชื้อโควิด-19 ลักษณะคล้ายไข้หวัด หากเดินไปด้วยมาตรการสาธารณสุข มาตรการวัคซีน ตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด ต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน ซึ่งอันต่อมาคือ ยารักษา

“ขณะนี้ยาต้านไวรัสทุกตัวที่ใช้ อยู่ยังมีคำถามมากมาย รวมถึงฟ้าทะลายโจรก็ยังมีคำถาม ดังนั้น ตอนนี้เลยมีความพยายามหายาต้านไวรัสหลายตัว บางตัวทำท่าว่าจะได้ผล อีกตัวคือ โมโนโครนอลฯ น่าสนใจ เพราะบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์ ดังนั้น การต่อสู้กับโควิด-19 ต้องใช้อาวุธหลายชนิด ตอนนี้ต้องใช้การป้องกันตัวเอง วัคซีน และยาเท่าที่มี ซึ่งยาโมโนโครนอลฯ ผมมองว่าจะเป็นหนึ่งตัวที่มาช่วยคนไข้ความเสี่ยงสูงได้ดีพอสมควร ต่อมาจะมียาต้านไวรัสบางตัวที่ต้องติดตามอีก 2-3 ตัว เนื่องจากมีวิจัยอยู่มาก” ผศ.นพ.กำธร กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เมื่อมีผู้ป่วยมาก มีการครองเตียงมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีผู้ป่วยรายใหม่ 2 หมื่นต่อวัน เราจึงประสบปัญหาเตียงล้น ดังนั้น การบริหารเตียงผู้ป่วยคือ การคัดแยกผู้ป่วยตามกลุ่มสีให้ดีเพื่อกระจายเข้าไปในที่ที่สามารถดูแล และควบคุมคุณภาพได้ ขณะเดียวกัน ข้อมูลในปัจจุบันต่างประเทศพัฒนาการรักษาอยู่หลายตัว ที่เป็นยาป้องกันและช่วยลดความรุนแรง ส่วนยากลุ่มใหม่ที่อยู่ในการศึกษา กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่นำโปรตีนที่สร้างขึ้นจับกับส่วนของไวรัส ไม่ให้เข้าเซลล์มนุษย์ ดังนั้น ไวรัสจะไม่สามารถทำร้ายเซลล์ได้ ยาในกลุ่มนี้มีหลายตัวและการใช้ต้องใช้ในระยะของการติดเชื้อ ยังไม่แนะนำให้ใช้ในช่วงที่ช้าไปแล้ว หรือเลย 10 วันแล้ว เนื่องจากเป็นระยะของการกระตุ้นภูมิของร่างกาย

ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ทั่วไปจึงเลือกใช้ในผู้ปวยโควิด-19 ที่อาการและมีความเสี่ยงอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้มีความอ้วน คิดว่าในอนาคตจะขยายข้อบ่งชี้มากขึ้น เช่น ผู้ป่วยระบบประสาท หญิงตั้งครรภ์ หรือในเด็ก ทั้งนี้ ก็จะมียาตัวอื่นๆ ทั้งยากินหรือยาฉีด อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ช่วยทั้งรักษาและป้องกัน เหมือนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งยากลุ่มนี้ก็จะคล้ายๆ กันด้วย

ขณะที่แหล่งข่าว กล่าวว่า เบื้องต้นมีการนำเข้ายากลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี 4,000 โดส กระจายให้กับ รพ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน 50 แห่ง ที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้เข้ามา ย้ำว่ายานี้เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ให้กับทุกคน ในส่วนของ รพ.เอกชน อาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย ส่วน รพ.รัฐคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินของ รพ. หรือเงินบริจาคต่างๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว เบื้องต้นที่มีการนำเข้ามานั้นราคา 50,000 บาทต่อโดส 1 คน ใช้ 1 โดส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image