แพทย์ เตือนหน้าฝนระวัง! พยาธิไชตัว นูนออกผิวหนัง เด็กเล็กโตช้า แคระแกรน ชี้อันตรายให้รีบหาหมอ

แพทย์ เตือนหน้าฝน ระวัง! พยาธิไชตัว นูนออกผิวหนัง เด็กเล็กโตช้า แคระแกรน ชี้อันตรายให้รีบหาหมอ

วันนี้ (28 กันยายน 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก Mother and Child Channel ได้โพสต์ข้อความเตือนบรรดาผู้ปกครองเด็ก หลีกเลี่ยงการให้ลูกออกไปเล่นดิน โคลน ทราย นอกบ้านในระยะนี้ เพื่อป้องกันโรคพยาธิปากขอ

ข้อความดังกล่าวระบุว่า “ช่วงฝนตกหนักแบบนี้ ให้ลูกเล่นดินโคลนทรายนอกบ้าน ระวังกันด้วยนะคะ ดังที่คุณแม่ท่านนี้โพสต์เตือนว่า ฝากเตือนแม่ๆ ทุกบ้าน ช่วงนี้หลีกเลี่ยงให้เด็กๆ ที่บ้านอย่าไปเล่นดินโคลนทราย เพราะช่วงนี้พยาธิปากขอมากับน้ำ กับสิ่งสกปรก เราไม่สามารถมองเห็นได้ #บ้านนี้เจอแล้ว1คน Credit: Ouy Thipsuda”

ปรากฎว่า หลังจากมีการเผยแพร่โพสต์ดังกล่าว มีการเข้าไปแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ รศ.นพ.ดร วัฒนกุลพานิชย์ รองหัวหน้าภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า พยาธิที่สามารถชอนไชผิวได้นั้นมีหลายตัว ตัวที่สำคัญคือ พยาธิปากขอ ซึ่งพบได้บ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ เนื่องจากลักษณะพื้นที่เหมาะสมในการเติบโต คือ ชุ่มชื้น ร้อนชื้น ไม่แห้งเกินไป เพราะพยาธิกลุ่มนี้ต้องอาศัยวงจรชีวิตที่จะต้องเจริญเติบโตในดิน ก่อนพัฒนาเป็นพยาธิระยะติดต่อ และสามารถไชเข้าผิวหนังสิ่งมีชีวิต รวมถึงคนได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เล่นตามพื้นดิน ไม่ได้ระวังตัวเท่าไร ทั้งนี้ พยาธิจะไชเข้าไปตามง่ามนิ้วเท้า หรืออวัยวะที่สัมผัสกับดิน

Advertisement

รศ.นพ.ดร กล่าวว่า พยาธิปากขอที่มีอยู่ในคน มี 2 ชนิด 1.เมื่อไชเข้าตามผิวหนังแล้ว อาจจะไม่เห็นรอยพยาธิ เพราะเข้าไปในเส้นเลือด แล้วไปเติบโตเป็นตัวแก่ที่ลำไส้ เมื่อเข้าร่างกายจำนวนมากนั้นทำให้เกิดอันตรายได้ โดยจะแย่งอาหารคน และกินเลือดด้วย ทำให้เกิดโลหิตจาง เด็กเล็กร่างกายไม่เจริญเติบโตตามวัยอันสมควร การเรียนรู้ช้า แคระแกรน เป็นต้น 2.พยาธิปากขอที่อยู่ในสัตว์ จะไชเข้าตามผิวหนังของคนได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถเข้าสู่เส้นเลือดได้ ทำให้เห็นเป็นรอยโรคชัดเจน ซึ่งมีหลายตัว ส่วนใหญ่เป็นพยาธิในสุนัข และ แมว ซึ่งใกล้ชิดกับคนมากที่สุด บางบ้านเลี้ยงสัตว์แล้วไม่ได้พาไปถ่ายพยาธิ จึงสามารถติดเข้ามาในคนได้

“ถ้ามีพยาธิไชเข้าร่างกาย อาจจะสามารถมองเห็นรอยโรค รอยการเคลื่อนที่ของพยาธิ สามารถถ่ายรูปแล้วนำไปปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ อาจจะมีอาการคัน มีผื่นเกิดขึ้นบริเวณนั้น บางลักษณะของพยาธิอาจจะทำให้เกิดอาการบวมแล้วยุบหายไป แล้วไปบวมอีกที่หนึ่ง เรียกว่า บวมเคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม กรณีคันหรือมีผื่นอาจจะเป็นอาการของโรคลมพิษ หรืออาการแพ้อย่างอื่น ดังนั้น ไม่แนะนำให้เกา หรือทำให้เกิดแผลเพื่อหวังว่าจะเอาพยาธิออกมา จริงๆ รอยที่เห็นต่อให้เป็นรอยของพยาธิจริง แต่แนวปฏิบัติของแพทย์ก็ไม่ได้ผ่าเอาตัวพยาธิออกจากบริเวณนั้น เพราะพยาธิอาจจะเคลื่อนที่ไปที่อื่นแล้ว แต่รอยเพิ่งเกิดก็ได้ ดังนั้น หากมีปัญหาพยาธิให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา” รศ.นพ.ดร กล่าว

Advertisement

รศ.นพ.ดร กล่าวว่า พยาธิที่เข้าสู่ลำไส้คนได้ สามารถวางไข่ได้ แต่ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้ เพราะวงจรชีวิตต้องอาศัยพื้นดินในการเจริญเติบโต เป็นตัวอ่อน แล้วไชออกมาข้างนอก รอคอยเวลาไชเข้าร่างกายสิ่งมีชีวิตแล้ววนเวียนเป็นตัวแก่ในร่างกายต่อไป ดังนั้น ไม่สามารถแพร่พันธุ์ในร่างกายคนเราได้

“ปัจจุบัน อัตราการความชุกโรคพยาธิในประเทศไทยลดลง เพราะมีสุขาภิบาลดีขึ้น แต่ยังพบเพิ่มขึ้นบริเวณชายขอบ ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจจะยังมีปัญหาเรื่องสุขาภิบาลอาหาร น้ำดื่ม และการขับถ่ายที่ไม่ดี ไม่ได้ถ่ายในส้วม ไข่พยาธิที่ปนออกมากับอุจจาระก็จะปนในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหน้าฝนจะถูกชะล้างไปตามพื้นที่ต่างๆ สวน ไร่ นา ปนกับผัก หรืออาหาร หากล้างไม่ดีก็จะเผลอรับประทานไข่พยาธิเข้าไปได้” รศ.นพ.ดร กล่าว

รศ.นพ.ดร กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนนี้ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะการเฝ้าระวังบุตรหลาน นอกจากระวังเรื่องการจมน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีพิษหนีมากับน้ำท่วมแล้ว ก็ขอให้ระวังเรื่องพยาธิด้วย ขอให้รับประทานอาหารปรุงสุก ไม่ควรรับประทานอาหารดิบๆ โดยหน้าฝนซึ่งมีหอยน้ำจืดออกมาจำนวนมาก จะมีพยาธิอาศัยอยู่ หากรับประทานดิบๆ แล้วได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย อาจจะทำให้มีเกิดอาการปวดหัวรุนแรง อาจจะมีอัมพฤกษ์ครึ่งซีก เรียกว่า “ปวดหัวหอย” หรือพยาธิหอยโข่ง ซึ่งพบมากในฤดูนี้ ดังนั้น ขอให้ปรุงสุก ส่วนการรับประทานยาถ่ายพยาธินั้น เนื่องจากมียาหลายชนิด สำหรับพยาธิหลายชนิด ปริมาณการใช้ไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่ามีพยาธิอะไรอยู่ ยาที่กินอาจจะไม่ตรงกับพยาธิ ดังนั้น แนะนำให้ตรวจกับแพทย์ เหมือนเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image