ซีอีโอ ธนบุรี กรุ๊ป ย้ำ! โควิดจุดเปลี่ยนธุรกิจสุขภาพ มั่นใจ เมดิคัล ฮับ ไทยยังไปได้

ซีอีโอ ธนบุรี กรุ๊ป ย้ำ! โควิดจุดเปลี่ยนธุรกิจสุขภาพ มั่นใจ เมดิคัล ฮับ ไทยยังไปได้

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) อาคารสำนักงาน ชั้น G มีการจัดกิจกรรมสัมนา ‘สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด’ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมสัมนาแบบวิถีใหม่ (New Normal) ทั้งนี้ นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด”

ว่า ธนบุรี เฮลท์แคร์ เป็นบุคลากรด่านหน้า ซึ่งมีอายุมากว่า 46 ปี โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งได้สั่งสอนมาตลอดให้ใช้หลัก Code of Conduct หรือจริยธรรมพลเมือง หรือ แนวปฏิบัติ ที่สามารถใช้ได้ทั้งในภาวะปกติ และภาวะฉุกเฉิน โดยต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ และจริงใจ ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โรงพยาบาล (รพ.) ธนบุรี ได้จัดทำ รพ.สนาม สำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการหนัก หรือไอซียูสนาม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกองทัพบก

“มีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยหายใจแบบไฮโฟลว์ กลุ่มนี้ต้องมีไอซียูสนาม เพราะไอซียูใน รพ. เต็มทั้งหมด หากไม่ขยายก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิต เราเอามาตรฐานของ รพ.มาสู่ข้างนอก เพื่อที่จะขยายให้เท่าทันโรค โดยมีเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการ 706 เตียง ขณะนี้รองรับผู้ป่วยอยู่ทั้งหมด 306 เตียง และยังเหลือว่างอีก 400 เตียง และยังมี รพ.สนาม อื่นๆ อีกกว่า 10 แห่ง ทั้งหมดรวมเกือบ 4,000 เตียง” นพ.ธนาธิป กล่าว

นพ.ธนาธิป กล่าวว่า ในส่วนของโค้ด ออฟ คอนดักต์ นั้น ได้เจ้าหน้าที่สายการบิน เป็นสจ๊วต กับแอร์โฮสเตส มาช่วยในการประสานงาน เนื่องจากไม่มีไฟลท์บินในขณะนั้น ซึ่งเป็นการร่วมงานที่ดี เป็นมืออาชีพ และกลุ่มแพทย์ พยาบาล ซึ่งมาจากคลินิกผิวพรรณ และความงามที่ถูกปิดไปในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการที่ดีของพลเมืองที่ออกมาช่วยทำงานด่านหน้า

Advertisement

“คีย์เวิร์ด คือ ถ้าไม่ปลอดภัย หมอ และพยาบาล จะไม่ทำงานกับเรา ผมว่า แพทย์ พยาบาลทุกคน เหนื่อย แต่ภูมิใจ ผมเองในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เหนื่อย เพราะลุยกับ รพ.สนาม มันเหมือนเราทำงาน 10 ปี เพราะเราคิดอะไรใหม่ๆ วางแผนไป 3 เดือน ทำอีก 7 เดือน ปีนึงถึงจะได้ใช้ แต่อันนี้เราใช้เวลา 10-15 วัน ดัดแปลงทุกอย่าง ทำงานทั้งวันทั้งคืน เรียกช่าง ผู้บริหาร ผู้รับเหมา ผมว่ามันเป็นความร่วมมือที่ดี เราได้ Know-how ใหม่ๆ และเวลา คือ สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราช้าไป 1 วันจะมีคนเสียชีวิต 300 คน ถ้าทำเร็วขึ้น 10 วัน เราจะสามารถรักษาชีวิตเอาไว้ได้อีกหลายชีวิต” นพ.ธนาธิป กล่าว

นพ.ธนาธิป กล่าวว่า สำหรับภาวะหลังสถานการณ์โควิด-19 หรือ Post-Covid เราจะต้องสร้างเสริมภูมิคุ้มกันบุคคล คือ การได้รับวัคซีนบุคคล การได้รับวัคซีนองค์กร และการมีนวัตกรรมที่จะสามารถทดแทนความถดถอยที่เกิดขึ้นได้ นั่นคือ ‘ดิจิทัล’ เพราะง่าย ใช้งานเยอะขึ้นเรื่อยๆ และเร็วที่สุด ซึ่งจะต้องเลิกยึดติดกับระบบเดิมๆ

โดยที่ผ่านมา ในแนวปฏิบัติเจน วาย (Gen Y) มีความกระตือรือร้นที่สุด มีการเรียนรู้ และความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับคนกลุ่มนี้

Advertisement

“สำหรับ Post-Covid ในระยะ 2-3 ปี คนมีอาการเครียดมากขึ้น และกลุ่มผู้สูงอายุที่เคยป่วยไปแล้วมีผลจริงๆ เพราะการนอนรับการรักษาเป็นเวลานานจะเกิดอาการกล้ามเนื้อเหี่ยวลง แต่เราได้จัดตั้งโครงการสำหรับกลุ่มรีทรีท ซึ่งเป็นกลุ่มอ่อนแอ และบอบบาง เป็นการฟื้นฟูแบบแนวรีสอร์ท สำหรับผู้ที่หายป่วยแล้วให้ไปรับการบำบัด ให้ความรู้สึกเหมือนมาเที่ยวพักผ่อนไปด้วย แต่จะมีการบริการและความปลอดภัย ซึ่งโครงการนี้จะเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายใหม่สำหรับประเทศไทย จากเดิมมี 2 แบบ คือ แอดเวนเจอร์ และเมดิคอล ทัวร์ริสซึ่ม ที่เดินทางมารักษา ซึ่งรีทรีทเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่เติบโตนัก และมีจุดประสงค์เพื่อเติมพลังให้กับกลุ่มอ่อนแอ และบอบบางโดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” นพ.ธนาธิป กล่าว

เมื่อถามว่า ประเทศไทยที่ได้มีการตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเป็นเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ยังคงมองว่าเป็นไปได้หรือไม่ นพ.ธนาธิป กล่าวว่า มองว่าเมดิคัล ฮับ ในประเทศไทยยังคงเป็นไปได้ แต่เมื่อไรที่จะกลับมายืนจุดเดิม ไม่แน่ใจ เพราะว่าขึ้นอยู่กับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลไทย และขึ้นอยู่กับประเทศต้นทางด้วย ยกตัวอย่าง ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่พอเข้ามา สวอบ 3-4 หน และวันต่อมา ก็ลงทะเลได้ ไปเกาะต่างๆ ได้ แต่พอกลับประเทศ เขาโดนกักตัว 14 วัน และขึ้นอยู่กับมายด์เซ็ตของผู้คนด้วย ว่ากล้ามาเที่ยวกันหรือยัง
เมื่อถามต่อถึงมุมมองในเรื่องเทรนด์การดูแลเอาใจใส่สุขภาพ นพ.ธนาธิป กล่าวว่า คนต้องให้ความสนใจเรื่องสุขภาพแน่ การมีธุรกิจเกิดใหม่ขึ้นมาก็เพื่อมาเติมเต็มช่องว่าง แต่บางธุรกิจก็จะหายไปเช่นกัน อยู่ที่เราจะปรับตัวแบบไหน แต่อีกไม่นานก็จะกลับมา แต่กลับมาในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง ทั้งนี้ ในฐานะผู้ประกอบการต้องกลับไปกระตุ้นในองค์กร เพื่อหานวัตกรรมใหม่ ระบบการทำงานใหม่ เพื่อมาสร้างความมั่นใจ และทดแทน รวมถึงเติมเต็มช่องว่างให้ได้

“ในส่วนของการเป็นบุคลากรด่านหน้านั้น มีอะไรต้องปรับเยอะ โดยความเชื่อมั่นต้องเริ่มจากภายในก่อน ถ้าหมอ พยาบาลรู้สึกปลอดภัย คนไข้ก็จะรู้สึกปลอดภัยตาม สุดท้ายนี้ขอให้มีกำลังใจ ทั้งประชาชน ทั้งหมอ พยาบาล ทุกอย่างมันมีวาระ คือ มีโรคระบาดและมันก็หมด เราต้องเรียกความเชื่อมั่น และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิต” นพ.ธนาธิป กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image