สกู๊ป น.1 : ผ่าแผน ‘จัดการน้ำ’ แก้แล้ง-ป้องท่วม

สกู๊ป น.1 : ผ่าแผน ‘จัดการน้ำ’ แก้แล้ง-ป้องท่วม

ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งในสายตาของประชาชนและนักการเมืองส่วนใหญ่ต่างตั้งคำถามว่า หน่วยงานน้ำของรัฐถือเป็นอีกหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของหน่วยงานในสังกัดรัฐแต่ทำไมประเทศไทยจึงเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำๆ ทุกปี

นอกจากนี้ ก่อนจะถึงฤดูฝนของทุกปีเราจะได้เห็นแผนต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำออกมาให้ประชาชนได้รับทราบว่า เมื่อฝนมาแล้วจะมีการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แต่ก็ยังไม่วายเกิดซ้ำอีกจนได้

จึงเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการผลาญงบประมาณแผ่นดินแต่ไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น จากปัญหาดังกล่าวทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมชลประทานได้ออกมาชี้แจงว่า กรมชลประทานเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำ ซึ่งมีการร่วมบูรณาการทำงานกับหลายหน่วยงาน

โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานระหว่างปีงบประมาณ 2557-2564 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้แล้วกว่า 2 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้กว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านไร่ และมีจำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์กว่า 6 ล้านครัวเรือน

Advertisement

ทั้งนี้ พื้นที่ของไทยมีทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบชลประทานได้ประมาณ 60 ล้านไร่ แต่ในปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้ 35 ล้านไร่ ในขณะที่ข้อมูลน้ำฝนและน้ำท่าที่เกิดขึ้นในประเทศ พบว่าไทยมีฝนเฉลี่ยปีละ 1,588 มิลลิเมตร คิดเป็นน้ำท่าใช้การได้ 205,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังเก็บกักน้ำได้เพียง 82,000 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 40% ของปริมาณน้ำท่าทั้งหมด

แผนบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 2,775 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ อ.ลำสนธิ และ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างรวดเร็วจนเกือบเต็มความจุอ่าง จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อเป็นการลดปริมาณน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา กรมได้ทำการตัดยอดน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา 2 ฝั่งแล้วกว่า 133 ล้าน ลบ.ม.

พร้อมวางแผนผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักส่วนหนึ่งลงคลองระพีพัฒน์ลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ก่อนระบายลงสู่อ่าวไทยตามลำดับ อีกส่วนหนึ่งจะรับน้ำผ่านคลอง 13 คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต จากนั้นจะใช้สถานีสูบน้ำแนวคลองชายทะเลเร่งสูบน้ำลงอ่าวไทยต่อไป

Advertisement

อีกหนึ่งหน่วยงานรัฐ คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยืนยันเช่นกันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งมั่น ทุ่มเท และให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งส่งผลให้สถิติความเสียหายภัยจากน้ำลดลงอย่างชัดเจน

เห็นได้จากปี 2562 ซึ่งแม้ว่าจะเป็นปีที่แล้งรุนแรงเป็นลำดับที่ 2 รองจากปี 2558 แต่การบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกัน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และหาแหล่งน้ำสำรอง ทำให้มีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งปี 2562 เพียง 30 จังหวัด 891 ตำบล ใน 7,662 หมู่บ้าน น้อยกว่าการบริหารจัดการน้ำในหลายปีที่ผ่านมา และในปี 2563/64 มีการประกาศภัยแล้งเพียง 2 จังหวัดเท่านั้น

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับน้ำในทุกมิติ จึงนับเป็นครั้งแรกของการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งเป็นการร่วมกันดำเนินงานจากทุกหน่วยงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และมีผลงานที่เป็นรูปธรรม

ดังนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 3,347 แห่ง จาก 5,472 แห่ง สระน้ำในไร่นา 190.59 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 63% พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 118.43 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ 225 แห่ง และปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 181 แห่ง ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อวางแผนแก้ไขเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ 66 พื้นที่ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำซ้ำซากและมีผลกระทบในวงกว้าง

โดยมีแนวคิดในการใช้ปัญหาเป็นที่ตั้ง และแก้ปัญหาด้วยหลายวิธีการแทนการใช้โครงการเป็นที่ตั้ง โดยมีแผนหลักในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขับเคลื่อนแล้วจำนวน 133 โครงการ จาก 526 โครงการ รัฐบาลยังมุ่งเน้นการแก้ปัญหาในเชิงบริหารจัดการควบคู่ไปด้วย อาทิ พัฒนารูปแบบการจัดการน้ำโดยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง เพื่อบรรเทาความเสียหาย

โดยพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง จำนวน 1.15 ล้านไร่ สามารถหน่วงน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

รวมถึงยังมีการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านน้ำ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ถึงระดับนโยบาย ยกระดับการมีส่วนร่วมด้านน้ำ ได้แก่ องค์กรผู้ใช้น้ำ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำการจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งเป็นการพัฒนากลไกการกำกับดูแล อำนวยการสั่งการจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำอีกด้วย

สทนช.ยืนยันอีกว่ารัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้มีการตรวจสอบข้อมูลความซ้ำซ้อนของแผนงานด้านน้ำได้กว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้เกิดการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากประเด็นน้ำท่วมแล้ว ทาง สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการเพิ่มน้ำใช้งานโดยพัฒนา โครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปัจจุบันคืบหน้าแล้วกว่า 89% และจะได้เห็นความชัดเจนของโครงการดังกล่าวได้ในปี 2570 จากการประเมินความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ศึกษาพบว่าพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเป็นพื้นที่การใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง

ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าพื้นที่ จ.ชลบุรี จากการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำในปี 2570 จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล บนพื้นที่บริเวณมาบตาพุด ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วัน โดยจะต้องมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรมีการพัฒนาระบบสำรองเพิ่มเติมในปีที่มีปริมาณน้ำน้อย อีกประมาณ 100,000 ลบ.ม./วัน

ถือเป็นการบูรณาการของหน่วยงานบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ภัยแล้งและป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image