‘อัศวิน’ เผยแผนป้องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ใช้ทั้งอุโมงค์ยักษ์ ยันลอกท่อ

‘อัศวิน’ เผยแผนป้องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ใช้ทั้งอุโมงค์ยักษ์ ยันลอกท่อ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า สำหรับประสิทธิภาพของอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำของ กทม. ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีอุโมงค์ยักษ์ช่วยระบายน้ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-5 เมตร (ม.) กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ โดยอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำและระบบระบายน้ำในพื้นที่ เช่น ท่อระบายน้ำ คู คลอง มีขีดจำกัดไม่สามารถนำน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง นอกจากนี้ ยังช่วยเร่งระบายน้ำหลากจากพื้นที่ภายนอกให้ระบายผ่านคลองระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ป้องกัน แล้วไหลลงสู่อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถช่วยให้การระบายน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมนอกพื้นที่ป้องกันของ กทม.ได้เป็นอย่างดี

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์แล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร (กม.) มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) คือ

1.โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 ม. ยาวประมาณ 1.88 กม. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมริมคลองเปรมประชากร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตร.กม. 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 45 ลบ.ม.ต่อวินาที และท่อระบายน้ำใต้ดินมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 ม. ยาวประมาณ 5.98 กม. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และเขตดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม.

3.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และเขตลาดพร้าว อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 5.11 กม. ระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที 4.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และเขตดุสิต อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 6.40 กม. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

Advertisement

“ยังมีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่อีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้แก่ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และเขตจตุจักร อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2569 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 พื้นที่ได้รับประโยชน์เขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม และเขตคันนายาว คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าว และเขตจตุจักร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 แล้วเสร็จปี 2568 สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด พื้นที่ได้รับประโยชน์ เขตทวีวัฒนา หนองแขม และเขตบางแค คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2569” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ในส่วนการบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ กทม. ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำสถานีสูบน้ำตลอดเวลา เพื่อบำรุงรักษาและจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงไม่ให้กีดขวางช่องทางรับน้ำเข้าสู่อุโมงค์ รวมทั้งได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคู คลองระบายน้ำ ในพื้นที่ กทม. เพื่อเปิดทางน้ำไหลและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอยู่เป็นประจำ โดยได้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนถึงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี

Advertisement

“สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำระหว่างจังหวัดปริมณฑล กับกรุงเทพฯ นั้น กทม. ได้มีการประสานงานร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง และจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกับพื้นที่ปริมณฑล ในส่วนของความคืบหน้าการขุดลอกคูคลองจัดเก็บขยะและวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งการลอกท่อระบายน้ำ ช่วยเปิดทางน้ำไหล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปีงบประมาณ 2564 กทม.ดำเนินการจัดเก็บและกำจัดผักตบชวา ในแหล่งน้ำสาธารณะ คูคลองลำรางและลำกระโดงที่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น 1,980 คูคลอง ความยาวรวม 2,743 กิโลเมตร” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image