เรียนออนไลน์ทำเด็กเครียด กรมสุขภาพจิตแนะครอบครัว-ร.ร.เปิดให้ร่วมตัดสินใจรับวัคซีนโควิด

เรียนออนไลน์ทำเด็กเครียด กรมสุขภาพจิตแนะครอบครัว-ร.ร.เปิดให้ร่วมตัดสินใจรับวัคซีนโควิด

วันนี้ (6 ตุลาคม 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กนักเรียน ณ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี

นายอนุทิน กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงการระบาดระลอกที่ผ่านมา เดือนเมษายน-สิงหาคม 2564 มีเด็กที่ติดเชื้อสะสม 114,039 ราย และยังพบผลกระทบจากการปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ พบปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ ทักษะสังคม และเสียโอกาสในการเรียนรู้เป็นอย่างมากจากการที่ไม่ได้ไปโรงเรียนตามปกติ ประกอบกับ กลุ่มวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนครอบคลุมค่อนข้างกว้างขวางตามเป้าหมายที่ สธ.ตั้งไว้

“ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ สธ.จึงร่วมกับ ศธ.เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มนักเรียน โดยเริ่มต้นในกลุ่มอายุ 15-18 ปี เป็นหลักก่อน เนื่องจากผลการศึกษาวัคซีนในเด็กยังมีน้อยกว่าในผู้ใหญ่ จึงต้องติดตามผลลัพธ์อย่างใกล้ชิด พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อความปลอดภัยสูงสุดสำหรับเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของเราทุกคน และนำไปสู่การกลับไปใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงปกติ คือ สามารถไปโรงเรียน เรียนรู้ได้สมวัย และแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ทุกคนในโรงเรียนทั้งครู เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และตัวเด็กเองยังต้องระมัดระวังป้องกันตนเองขั้นสูงสุด เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในโรงเรียน” นายอนุทิน กล่าว

พญ.อัมพร กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตเด็กทุกช่วงวัย โดยผลการสำรวจ Mental Health Check-in ข้อมูลสะสม ณ วันที่ 19-25 กันยายน 2564 โดยผู้ตอบแบบประเมิน 2,045 ราย พบเด็กมีความเครียดสูงถึงร้อยละ 29.29 ภาวะหมดไฟในการเรียนร้อยละ 16.67 สูงกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 3 เท่า บางรายมีการเรียนรู้ถดถอย ปัญหาด้านอารมณ์จิตใจส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไม่ได้ไปเรียนหรือมีสังคมปกติตามวัย พบภาวะติดเกม ติดโทรศัพท์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

Advertisement

“รวมถึงการระบาดในระลอกที่ผ่านมา พบการติดเชื้อของเด็กจากสมาชิกในครอบครัว จึงจำเป็นต้องพิจารณาเร่งการฉีดวัคซีนในภาวะฉุกเฉินในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ซึ่งอาจสร้างความไม่สบายใจกับเด็ก ผู้ปกครอง และครู การสื่อสารทำความเข้าใจข้อมูลวัคซีนและความเสี่ยง รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้ผู้ปกครองและเด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจึงมีความสำคัญอย่างมาก เด็กควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเลือกรับวัคซีนหรือไม่ หลังจากได้รับข้อมูลรอบด้าน โดยคำนึงถึงประโยชน์และผลข้างเคียง หากเด็กมีความกังวลหรือกลัวการฉีด ควรเปิดโอกาสให้เด็กสามารถรอ และเลือกรับวัคซีนเมื่อพร้อม” พญ.อัมพร กล่าว

ทั้งนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ ต้องไม่นำประเด็นวัคซีนมาเป็นการตีตราหรือล้อเลียนกัน (bully) ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ตัดสินใจไม่ฉีด หรือเลือกฉีดวัคซีนชนิดต่างกัน ไม่ควรเป็นประเด็นกีดกันไม่ให้เด็กได้รับการศึกษาตามที่ควรจะเป็น ในกรณีที่เด็กๆ มีปัญหาความกังวลใจหรือความเครียด สามารถขอรับการปรึกษาทางช่องทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ เฟซบุ๊ก 1323 ปรึกษาสุขภาพจิตได้

“ขอแสดงความห่วงใยไปถึงประชาชนทุกคน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดหรือจากปัญหาเศรษฐกิจจนเกิดความเครียด หมดกำลังใจ เชิญชวนประชาชนทุกคนดูแลสุขภาพใจของตัวเอง คนรอบข้าง และครอบครัว รับฟังซึ่งกันและกัน สร้างสังคมแห่งความเห็นอกเห็นใจ ร่วมมือฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน วิกฤตครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบททดสอบเพื่อการปรับตัว ปรับใจ รับฟังและเข้าใจคนรอบข้าง สร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทยห่างไกลโควิด-19 ด้วยพลังอึด ฮึด สู้” พญ.อัมพร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image