ปลัดแรงงานรับ 5 ข้อเรียกร้องแรงงานนอกระบบ ยันรัฐบาลช่วยเต็มที่

ปลัดแรงงานรับ 5 ข้อเรียกร้องแรงงานนอกระบบ ยันรัฐบาลช่วยเต็มที่

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมรับข้อเรียกร้องของแรงงานนอกระบบในวันงานที่มีคุณค่าสากล (International Day on Decent Work) โดยมีผู้แทนจากสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ และผู้แทนที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานเข้าร่วมการประชุม ที่กระทรวงแรงงาน

นายบุญชอบ กล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี จึงได้มอบหมายให้ผมช่วยเหลือประชาชนและแรงงานทุกกลุ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ขอให้ทุกคนสบายใจได้ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานทุกคนมีความพร้อมและตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป” นายบุญชอบ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 ส่งผลให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น ผู้ทำการผลิตที่บ้าน ผู้หาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ช่างเสริมสวย ลูกจ้างทำงานบ้าน หมอนวดแผนโบราณ ซึ่งเป็นแรงงานแถวหน้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและจากนโยบายการปิดเมือง แต่เป็นแรงงานกลุ่มหลังที่จะสามารถฟื้นตัวคืนกลับมาได้ เพื่อฟื้นฟูชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของแรงงานนอกระบบและครอบครัวให้ดำเนินต่อได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) จึงได้เรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานงาน 5 ข้อ คือ

1.ให้มีการจ่ายเงินค่าชดเชยการขาดรายได้ กรณีเจ็บป่วยแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ตัดสินใจพักรักษาตัวที่บ้าน 2.ให้การช่วยเหลือผู้รับงานไปทำที่บ้านจากผลกระทบของโควิด-19 โดยการลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 แก่ผู้ที่ยืมเงินจากกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน ครอบคลุมแก่ลูกหนี้เดิมของกองทุนฯ ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

Advertisement

3.กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยการนำเสนอให้รัฐบาลคืนพื้นที่การค้าขายให้แก่ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารริมทาง หาบเร่แผงลอย ถนนคนเดิน ตลาดเขียวและตลาดในหน่วยงานราชการต่าง ๆ และขอให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพการเจรจากับกรุงเทพมหานคร เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย 4.ขอให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพในการเจรจาระหว่างกลุ่มเครือข่ายแรงงานนอกระบบกับกระทรวงดิจิทัล เพื่อให้เกิดการสร้างแพลทฟอร์มส่งเสริมการทำงาน และ 5.ขอให้สำนักงานประกันสังคมขยายความคุ้มครองต่าง ๆ ให้ครอบคลุมแก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและสังคมประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image