ศบค.เข้มมาตรการกันโควิด ห่วงยอดพุ่ง 3 หมื่นรายต่อวัน เฝ้าระวัง คลัสเตอร์ใหม่

ศบค.เข้มมาตรการกันโควิด ห่วงยอดพุ่ง 3 หมื่นรายต่อวัน เฝ้าระวัง คลัสเตอร์งานบุญ งานศพ วงหมูกระทะ เตือนงดร่วมกลุ่ม ตั้งวงเหล้า เล่นการพนัน

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เกี่ยวกับสถานการณ์การรายวัน ว่า ตัวเลขการฉีดวัคซีนวันที่ 7 ตุลาคม 911,677 โดส แบ่งเป็น เข็ม 1 จำนวน 413,000 ราย เข็ม 2 จำนวน 454,000 ราย ยอดรวมการฉีดวัคซีนสะสมกว่า 58,298,000 โดส ความครอบคลุมการฉีดเข็ม 1 คิดเป็น 47.5% ของประชากร ขณะที่เข็ม 2 ครอบบคลุม 31% และเข็ม 3 จำนวน 2.3% ช่วงนี้อยู่ระหว่างให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ทั้งนี้ มี 9 จังหวัดฉีดได้ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุกว่า 70% ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎรธานี และจะเร่งดำเนินการฉีดให้ถึง 80% ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้วกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคร้าย และหญิงตั้งครรภ์ ในอำเภอนำร่อง พื้นที่จังหวัดสีฟ้า หรือกลุ่มจังหวัดที่จะเปิดให้มีการท่องเที่ยวและการเดินทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เลย ชลบุรี บุรีรัมย์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สุราษฎร์ พังงา ภูเก็ต และกระบี่

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า สำหรับการฉีดวัคซีนนักเรียน นักศึกษา อายุ 12-17 ปี ซึ่งมีการฉีดวัคซีนมาตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา มีนักเรียนเข้ารับวัคซีนแล้ว 150,190 ราย ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่รายงานไม่ครบถ้วน ส่วนที่มีกระแสข่าวในโซเชียลกรณีวัคซีน mRNA จะส่งผลอัตรายร้ายแรงใน 1-2 ปีหลังการฉีด ไม่เป็นความจริง วัคซีนมีการศึกษาวิจัย และประเทศผู้ผลิตเองก็มีการฉีดจำนวนมาก ฉะนั้น ไม่มีทางที่จะเกิดอัตรายในเชิงนั้นได้ โดยมีการศึกษา ตรวจสอบเอกสารเป็นอย่างดี ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ และติดตาม ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลจากทางการ หรือแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ส่วนประเด็นที่บางพื้นที่ระบุว่า มีการแจ้งให้นักเรียนกลับบ้านโดยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขอชี้แจงว่าวัคซีนสำหรับนักเรียนมีเพียงพอ โดยรอบแรกจัดส่ง 1.8 ล้านโดส จากที่แจ้งความจำนงเข้ารับวัคซีน 3.6 ล้านคน และกระจายลงพื้นที่อีก 1.5 ล้านโดส ในสัปดาห์นี้ โดยจะทยอยจัดสรรวัคซีนลงไปเรื่อยๆ ขอให้มั่นใจ แต่ละพื้นที่จะจัดสรรตามลำดับความเหมาะสม

“ขอย้ำว่าการฉีดวัคซีนของนักเรียนไม่ใช่เงื่อนไข เรื่องการเปิด หรือไม่เปิดเรียน เพราะการเปิดเรียนมีการกำหนดแนวทางไว้ชัดเจน โดยโรงเรียนจะต้องดำเนินการตามมาตรการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สธ.  กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือ และจัดทำร่วมกัน ทั้งมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม งดการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม เช่น การเล่นกีฬา ที่มีการร่วมกลุ่ม รวมถึง ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา อีกทั้ง บุคลากรในโรงเรียนจะต้องได้รับวัคซีนเกือบ 100% สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะใช้พิจารณาเปิดเรียน ไม่ใช่เรื่องการฉีดวัคซีนได้เท่าไร ทั้งหมดจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการในพื้นที่” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันที่ 8 ตุลาคม รวม 11,140 ราย ใกล้เคียงกับตัวเลขผู้หายป่วย 9,933 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,660,574 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) เสียชีวิต 116 ราย เสียชีวิตสะสม 17,534 ราย คิดเป็น 1.04% ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และใส่เครื่องช่วยหายใจ 3,003 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 682 ราย สำหรับ 10 จังหวัด ผู้ติดเชื้อสูงสุด ดังนี้ กรุงเทพฯ 1,255 ราย ยะลา 776 ราย ชลบุรี 687 ราย นราธิวาส 592 ราย สมุทรปราการ 576 ราย ปัตตานี 503 ราย สงขลา 444 ราย นครศรีธรรมราช 395 ราย ระยอง 342 ราย และจันทบุรี 284 ราย

Advertisement

นพ.เฉวตสรรกล่าวอีกว่า ใน 10 อันดับ เป็นพื้นที่ภาคใต้ถึง 5 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการติดตามคลัสเตอร์ต่างๆ โดยในกรุงเทพฯ พบมีการติดเชื้อระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ คลัสเตอร์งานศพ ช่วงวันที่ 21  กันยายน ถึงวันที่ 7 ตุลาคม พบผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวเนื่องกับการไปร่วมงานศพ 838 ราย ใน 30 จังหวัด จำนวน 87 งาน พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย กระจาย 30 คลัสเตอร์ คลัสเตอร์ที่มีผู้ติดเชื้อมากคือ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 148 ราย อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี 115 ราย และ อ.เบญจลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ 108 ราย  ปัจจัยคือการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก การสัมผัสผู้ติดเชื้อ ฉะนั้น ถ้าใครเป็นผู้ติดเชื้อต้องไม่ไปร่วมกิจกรรมเหล่านี้เด็ดขาด อีกปัจจัยคือการไม่สวมหน้ากากอนามัย เพราะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน อีกทั้ง ยังมีการดื่มสุรา เป็นจัดที่ทำให้ขาดความระมัดระวัง นอกจากนี้ การเล่นพนันหลังงานศพ ยังทำให้มีการสัมผัสใกล้ชิด และเพิ่มความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังพบ คลัสเตอร์ทำป้ายที่ จ.จันทบุรี ล้งผลไม้ ที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด วงหมูกระทะ ที่ จ.ลำปาง และแคปม์งานก่อสร้าง จ.ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี กลุ่มแรงงานจับกุ้ง ใน จ.จันทบุรี ตลาด ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ค่ายทหาร หรือทหารเกณฑ์ พบที่ จ.ชลบุรี ลพบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

“ภาพรวมสถานการณ์ระดับโลกมีแนวโน้มที่ลดลง แต่บางประเทศยังมีการแกว่งตัว หลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมากยังมีการติดเชื้อ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องยกการ์ดสูง ใช้มาตรการป้องกันสูงสุดต่อไป ของไทยมีหลายคลัสเตอร์ทั้งงานบุญ งานศพ และช่วงนี้มีเทศกาลกินเจ ต้องระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการร่วมกลุ่ม อยู่ในสถานที่เดียวกันเป็นเวลานาน และยิ่งต้องเปิดหน้ากากรับประทานอาหาร ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้น ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ส่วนการเดินทาง สายการบินต่างๆ ที่ประชุม ศปก.ศบค.เห็นชอบปรับมาตรการรับผู้โดยสารตามความสามารถของอากาศยาน ผู้ที่จะเดินทางต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม  หากไม่ครบ ต้องมีผลตรวจ ATK หรือ PCR ตรวจไม่พบเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ที่สำคัญ การคัดกรองตั้งแต่เข้าพื้นที่ต้องมีความเข้มงวด หากตรวจพบมีไข้ หรือไม่เข้าหลักเกณฑ์ใดจะไม่ให้เข้าใช้พื้นที่ ดังนั้น ประชาชนเตรียมพร้อม เพื่อให้สามารถเดินได้ได้สะดวก จุดสำคัญหากเจ็บป่วย ควรหลีกเลียงการเดินทางไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรรกล่าวอีกว่า ผลของการล็อตดาวน์ที่ผ่านมา น่าจะทำให้ตัวเลขลดลง ตอนนี้มาถึงทางแยก หากไม่มีมาตรการที่ดีพอ หรือดำเนินการไม่ดี การติดเชื้อรายใหม่อาจพุ่งสูงถึง 25,000 หรือใกล้ 30,000 ราย  แต่มาตรการที่ใช้อยู่ตอนนี้คือ การระดมฉีดวัคซีน และการป้องกันแบบครอบจักรวาล ป้องกันตัวแบบสูงสุด  รวมถึง การตรวจ ATK จะเป็นตัวชี้วัดเรื่องการปฏิบัติตัวได้ดี รวมถึง มาตรการของผู้ให้บริการต่างๆ ที่ต้องเป็นตามาตรการที่กำหนด ก็อาจเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งอาจน้อยลงเหลือวันละ 5,000  ราย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image