ปลัด ทส.ติดตามการแปรรูปไม้มีค่า สร้างพิพิธภัณฑ์ กำชับแนวทางใช้ประโยชน์จากเศษไม้-ขี้เลื่อยที่เหลือ

ปลัด ทส.ติดตามการแปรรูปไม้มีค่า สำหรับก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ กำชับเร่งวางแนวทางใช้ประโยชน์จากเศษไม้-ขี้เลื่อยที่เหลือ

เมื่อวันที่​ 8 ตุลาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานแปรรูปไม้มีค่าสำหรับก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า ณ ส่วนอุตสาหกรรมไม้วังน้อย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีนายสุกิจ จันทร์ทอง รักษาการผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมป่าไม้ ประกอบด้วย นายชีวะภาพ ชีวะธรรม และนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล ร่วมให้ข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

Advertisement

โดยส่วนอุตสาหกรรมไม้วังน้อย ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการแปรรูปไม้มีค่าทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ ไม้พะยูง ไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง และไม้ชิงชัน ที่เป็นไม้ของกลางที่สิ้นสุดคดีความแล้ว สำหรับใช้ในการตกแต่งอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน อาทิ ประตู หน้าต่าง ฝ้า พื้น ฝาผนัง ตามการออกแบบของกรมศิลปากร ที่อาศัยความแตกต่างจากสีของเนื้อไม้แต่ละชนิดมาประกอบกันให้เกิดความสวยงามในการออกแบบตกแต่งภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และเป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ และงานฝีมือต่างๆ ของไทย

Advertisement

การแปรรูปไม้มีค่าของกลาง สำหรับการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558-2564 เต็มกำลังการผลิตของส่วนอุตสาหกรรมไม้วังน้อย ที่สามารถรองรับการแปรรูปไม้ได้วันละประมาณ 4,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแปรรูปไม้มีค่าของกลางไปแล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 11,689 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 87.4 ของปริมาณไม้ของกลางทั้งหมดที่ได้รับมอบจากกรมป่าไม้ รวมจำนวน 13,365 ลูกบาศก์เมตร

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวว่า จากการตรวจติดตามการดำเนินงานแปรรูปไม้มีค่าของกลาง พบว่า ไม้ทั้งหมดที่เข้ามามีความสมบูรณ์ประมาณร้อยละ 50 และเมื่อทำการแปรรูปแล้วจะได้ผลผลิตเป็นไม้แปรรูปประมาณร้อยละ 20 ที่เหลือจะกลายเป็นเศษไม้ ปีกไม้ เศษหัวไม้ตัด และขี้เลื่อยขี้กบ ซึ่ง อ.อ.ป. ต้องเก็บรักษาส่วนต่างๆ ของไม้ไว้ทั้ง 100% ตามมติของคณะกรรมการที่ผ่านมา โดยเฉพาะขี้เลื่อย ที่ปัจจุบันพบว่ามีปริมาณมากถึงเกือบ 1,600 ตัน จึงได้มอบหมายให้ อ.อ.ป. และกรมป่าไม้ เร่งหาวิธีนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเสนอเข้าสู่คณะกรรมการฝ่ายโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ในปัจจุบันพิจารณา แทนการปล่อยทิ้งไว้ให้เสื่อมสภาพและไม่เกิดประโยชน์ต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image