อนุทินสั่ง สธ.กำหนดเกณฑ์ปท.ได้สิทธิเข้าไทย แนะเปิดเป็นโซน พัก 1 คืน รอผล RT-PCR

อนุทินสั่ง สธ.กำหนดเกณฑ์ปท.ได้สิทธิเข้าไทย แนะเปิดเป็นโซน พัก 1 คืน รอผล RT-PCR

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ว่า ได้แจ้งไปยังปลัด สธ. และ อธิบดีกรมควบคุมโรค ถือว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แจ้งกับประชาชน เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เป็นนโยบายและข้อสั่งการ ดังนั้น สธ.ต้องหามาตรการทุกอย่างให้นโยบายบังเกิดผลให้ได้

“เราก็เตรียมความพร้อมมาต่อเนื่อง ทั้งนี้ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ที่ยังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถึงไม่ถึงร้อยละ 50 ก็ได้เร่งรัดเรื่องนี้ไปแล้ว แต่เนื่องด้วยเรามีวัคซีนเข้ามาเต็มที่ช่วงเดือน ก.ย. 20 ล้านโดส -ต.ค. 20 ล้านโดส ดังนั้น เราต้องเร่งกระจายไปยังพื้นที่ให้เร็วที่สุด พร้อมกำชับพื้นที่ กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ให้ลงไปในรายละเอียด ไม่ใช่หารยาวอย่างเดียว เราต้องเอาความเสี่ยงต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายวัคซีน ก่อนสิ้นปีนี้เราจะฉีดได้ครบอย่างแน่นอน เมื่อไรก็ตามที่เราทำให้ความปกติเกิดขึ้นได้ เราก็ไม่ล่าช้าที่จะทำ เราถือว่านโยบายของนายกรัฐมนตรี ต้องให้มีการเปิดประเทศสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยที่ได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว มีการรับรอง Fit to fly มีการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงก็ต้องตรวจ RT-PCR อีกครั้ง ต้องสเตย์ โอเวอร์ ไนท์ (Stay over night) 1 คืนแรก ในจุดเข้าเมือง เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ต้องพักในกรุงเทพฯ 1 คืน ก่อน เพื่อรอผล RT-PCR ซึ่งกรมควบคุมโรคพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดมาตรการให้เกิดความปลอดภัย” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า การเปิดประเทศจะพิจารณาประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำให้เดินทางเข้ามา โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศปก.ศบค.ก่อน แต่ตนแจ้งกับอธิบดีกรมควบคุมโรคแล้วว่า อย่าจำกัดแค่ 10 ประเทศ เพราะโลกนี้อยู่กันเป็นประชาคม ยกตัวอย่าง เยอรมนี ก็จะอยู่มาตรฐานเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์

Advertisement

“เราต้องแจ้งในที่ประชุม ศปก.ศบค. ว่า การกำหนดคุณสมบัติประเทศที่จะเข้ามาได้ จะเป็นอย่างไร ดูจากตรงไหน ไม่ใช่ดูจากประเทศหรือใช้ความรู้สึก แบบนี้ไม่ได้ เราต้องหารือกันว่า มีหลายกรณี เช่น ประเทศที่เป็นคอมมูนิตี้ อียู ประชาคมยุโรป หรืออาเซียน เราต้องพูดเป็นโซนก่อน แล้วค่อยยกเว้นประเทศที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก” นายอนุทิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนวัคซีนที่อนุญาตก็จะขึ้นอยู่กับการยอมรับในระดับสากล ไม่ได้บังคับตัวเองว่าองค์การอนามัยโลกยอมรับ เพราะเรามีมาตรฐานการประเมินและยอมรับได้ เช่น วัคซีนสปุตนิก วี เราก็ยอมรับการเดินทางเข้าอยู่แล้ว ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ต้องหามาตรการเรื่องการเข้าพักระหว่างรอผลตรวจ RT-PCR ของผู้เดินทางแต่หลักๆ โรงแรมส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร มีมาตรฐานตามหลักของสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) อยู่แล้ว

“โดยกรุงเทพฯ ยังไม่ใช่แซนด์ บ็อกซ์ คืนแรกก็ต้องเข้ารอผลการตรวจก่อน จนกว่าจะยืนยันว่าไม่ติดเชื้อ ก็เดินทางได้ เราไม่ปล่อยเสรี แต่ก็จะค่อยๆ ขยายไป ซึ่งเราหวังว่าจะไม่มีเหตุอะไรที่เราต้องถอยหลัง” นายอนุทิน กล่าวและว่า ส่วนการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่กักตัว หากเข้ามาโดยมีเอกสาร การรับรองที่เรายอมรับครบถ้วน ก็สามารถเดินทางได้ฟรีทูโกในประเทศ ซึ่งเหมือนกับประเทศอื่นๆ ก็ถือโอกาสนี้คุยกับประเทศที่เราจะประกาศด้วย วันนี้ตนก็ไลน์คุยกับทางทูตสิงคโปร์ ซึ่งเรียนท่านไปว่า ประเทศไทยจะเปิดการเดินทางเสรีภายใต้กฎเกณฑ์ สิงคโปร์ก็น่าจะเป็น 1 ในประเทศที่เราอนุญาต ก็หวังว่าทางสิงคโปร์จะพิจารณาผู้ที่เดินทางจากไทยไปด้วย รวมถึงทูตสวิตฯ และสหรัฐอเมริกาด้วย เพื่อให้เป็นทวีภาคี หรือพหุภาคีร่วมกัน

Advertisement

เมื่อถามว่าการเดินทางเข้าประเทศ ต้องกำหนดจำนวนผู้เดินทางแต่ละวันหรือไม่ เพื่อการบริหารจัดการตรวจ RT-PCR ใน 1 คืน และต้องกำหนดระยะเวลาการรับวัคซีนด้วยหรือไม่ ว่าต้องฉีดไม่เกินกี่เดือน นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนนี้ กรมควบคุมโรคจะต้องหารือกัน ซึ่งได้นโยบายข้อสั่งการมาแล้ว ซึ่งนายกฯ ย้ำว่าต้องฟังข้อแนะนำจาก สธ. ที่ต้องหามาตรการปลอดภัยและได้ประโยชน์ที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยเปิดประเทศมาพอสมควรแล้ว อย่าง ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ แสดงให้เห็นว่าคนที่เข้ามาปลอดภัย ส่วนใหญ่เกิดการติดเชื้อในประเทศ กลุ่มแรงงานต่างด้าวและผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนวันที่ 1 พ.ย. จะเปิดมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์โลก แต่ประเทศก็ประกาศเปิดมากขึ้น สิ่งที่ทำคือ 1.เตรียมสถานที่ในไทยให้พร้อม 2.คนที่จะเข้ามาก็ต้องเตรียมความพร้อม ฉีดวัคซีน ตรวจหาโควิด-19 ทั้งก่อนและเมื่อมาถึง 3.เตรียมคนในประเทศให้พร้อม คาดว่าสิ้นเดือน ต.ค.นี้ จะฉีดวัคซีนให้คนในประเทศอย่างน้อยเข็มที่ 1 ร้อยละ 50 ซึ่งขณะนี้คนที่ฉีดเข็มที่ 2 น่าจะใกล้ร้อยละ 40 คาดว่าสิ้นเดือน พ.ย. น่าจะเกินเป้าหมาย 100 ล้านโดส ฉะนั้น สถานการณ์การติดเชื้อ การเสียชีวิตก็จะลดลง

“รายละเอียดว่าจะเข้ามาอย่างไรให้ความเสี่ยงน้อยที่สุด การเปิดประเทศ มีคนเข้ามาเยอะ กิจกรรมเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจได้ คือทำให้คนอาการหนัก เสียชีวิตมีน้อยที่สุดในประเทศไทย เพื่อให้กระบวนการสังคม เศรษฐกิจ คนในประเทศเป็นไปอย่างปกติที่สุด” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ผู้เดินทางต้องออกค่าใช้จ่ายค่าตรวจ RT-PCR และการพักระหว่างรอผลเอง แต่ สธ. ได้รับนโยบายมาว่าต้องทำให้ถูกที่สุด สมเหตุผลมากที่สุด

นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจแล็บ RT-PCR ที่มีระบบขนส่ง แต่ดูแล้ว่า แล็บในกรุงเทพฯ สามารถรองรับได้ค่อนข้างมาก แต่หากเข้ามามากจริงๆ จะปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ ทั้งนี้ การเดินทางเข้ามาได้แต่เราไม่ได้ปล่อยอิสระเสรี แต่ละจังหวัดยังมีระบบเฝ้าระวัง เมื่อไรเกิดเคสขึ้น ต้องสอบสวนโรค ซึ่งสังเกตตอนนี้เราไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่ เพราะเราพยายามจับคลัสเตอร์เล็ก เช่นเดียวกันหากมีการเดินทางมาก คลัสเตอร์เล็กๆ ก็เกิดขึ้นได้ เราก็พยายามควบคุมสถานการณ์ เพื่อให้เปิดประเทศและดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนเรื่องประเทศที่เราจะพิจารณาต้องดูหลายอย่าง ดูตัวอย่างแต่ละประเทศด้วย เช่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ก็ประกาศแล้วเราก็จะดูว่าเขาทำอย่างไร รวมถึงดูข้อมูลของเรา เพื่อให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณา หากทำได้ก็จะมาเห็นชอบที่ สธ. และเข้า ศปก.ศบค. ก่อนนำเข้า ศบค.ในที่สุด เพื่อให้เกิดการเตรียมตัว 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ระบบดำเนินการได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image