‘ภท.’ ชี้ แก้กฎหมายอะไรต้องสอดคล้องกับ รธน. ยัน ยังไม่คุยแก้ไพรมารีโหวตลึกซึ้ง

‘ทรงศักดิ์’ ชี้ การแก้กฎหมายอะไรต้องสอดคล้องกับ รธน. เผย ‘ภูมิใจไทย’ ยังไม่คุยแก้ไพรมารีโหวตลึก

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าต้องดูรัฐธรรมนูญก่อน ในขณะนี้รัฐธรรมนูญประกาศแก้ไขเรียบร้อยแล้วหรือไม่ ต้องผ่านขบวนการนั้นก่อน ซึ่งการแก้กฎหมายต่างๆ ต้องผ่านสภาอยู่แล้ว และกฎหมายอะไรที่แก้นั้นต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนของ ส.ส.ที่เพิ่มจาก 350 เป็น 400 หรือบัตรเลือกตั้งจากหนึ่งใบเป็นสองใบ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามความบริสุทธิ์เที่ยงธรรม

นายทรงศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนตัวตนมองว่าเป็นเหมือนภาคบังคับ เมื่อหลักของมันว่าจะต้องมีเสียงจาก 350 เสียง เป็น 400 เสียง อะไรที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้ก็ต้องไปคำนวณกัน เช่น เรื่องจำนวนการเลือกตั้งไพรมารีโหวต มีตัวแทนพรรคประจำเขตที่เกิดขึ้นจาก 350 เขต เป็น 400 เขต หากไม่พร้อมอย่างไร หรือจะมีบทเฉพาะกาล ในส่วนนี้ตนมองว่าอยู่ในชั้นของการแก้ไขว่าอะไรที่เป็นความพอดี ความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้งและต้องไปสอดคล้องกัน

เมื่อถามว่าภูมิใจไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขประเด็นไพรมารีโหวตหรือไม่ นายทรงศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ที่เรายังไม่ได้คุยกันลึกลงไป ก็ต้องรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยเสร็จก่อน และมีการประกาศเป็นรัฐธรรมนูญ หากลึกกว่านี้ลงไปก็จะได้แค่ความเห็นที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งหากจะชัดเจนก็ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรียบร้อยจึงจะต้องมีการมาพูดคุยกัน ทั้งนี้ ก็มีความเห็นที่หลากหลายเหมือนกันว่ามีไพรมารีโหวตขั้นตอนการดำเนินการ ต้องใช้แบบเก่า หรือแบบระบบใหม่อย่างไร ซึ่งแบบเก่าเองก็ต้องมีตัวแทนพรรคประจำเขต ต้องมีสมาชิกแต่ละเขต และเมื่อมีรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งยังต้องคุยกันอยู่ว่าเรื่องไพรมารีโหวตมาจากเขต ครั้งที่แล้วมีเป็นรายเขตแต่ว่ามีข้อจำกัดแต่ก็มีบทเฉพาะกาลให้เป็นรายจังหวัด ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ต้องเป็นไพรมารีโหวตเป็นรายเขต ซึ่งแต่ละพรรคก็ต้องเตรียมความพร้อมกันเรื่องตัวแทนพรรค สมาชิกแต่ละเขต มีการเลือกตัวแทนของพรรคประจำเขตเพื่อคัดเลือกผู้สมัครส่งให้พรรคตามขั้นตอน ซึ่งเป็นเรื่องลำดับต่อไป

Advertisement

นายทรงศักดิ์กล่าวต่อว่า ปัญหาของเราวันนี้ถามว่าการที่จะมีเขตเลือกตั้งเพื่อนำมาสู่การกำหนดทิศทางเช่นนี้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตเลือกตั้งแล้วใช่หรือไม่ แต่ กกต.จะแบ่งเขตเลือกตั้งได้เลยหรือไม่ หากกฎหมายในเรื่องนี้ยังไม่ผ่าน สมมุติกฎหมายผ่านแล้วการจะแบ่งเขตเลือกตั้งได้อย่างไรก็ต้องดูเรื่องเวลาอีก ซึ่งในการแบ่ง เขตเลือกตั้งต้องเอาประชากรปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งใช่หรือไม่ จึงจะแบ่งเขตได้และพรรคการเมืองจะได้เตรียมความพร้อมว่าเขตเลือกตั้งเป็นอย่างไร มีตำบลอะไรบ้าง ทั้งนี้ เรื่องยังไม่ถึงขั้นตอนนี้ เป็นเรื่องความคิดเห็น ยังไปต่อไม่ได้ เราไม่สามารถตั้งสมาชิกประจำเขตได้เนื่องจากยังไม่มีการแบ่งเขต สุดท้ายก็มานั่งคิดว่าควรจะมีการทำไพรมารีโหวตหรือไม่ ซึ่งต้องไปดูกฎหมายอีกว่ากฎหมายเดิมบัญญัติไว้ว่าอย่างไร ฉะนั้นจึงต้องให้คงอยู่เคารพสิทธิประชาชนไว้ และในขั้นตอนทางกฎหมายผ่านพ้นก่อน

“ในขณะนี้พรรคการเมืองทำไปตามกฎหมายเก่าก่อน เขตเดิม จังหวัดไหนมีผู้แทนเท่าไหร่ จำนวนเดิมตามรัฐธรรมนูญเก่า ผมเข้าใจว่าเกือบทุกพรรคก็เดินไปตามกฎหมายเดิม ซึ่งพรรคก็ยังไม่มีนโยบายเตรียมความพร้อมในการทำตามกฎหมายใหม่ เพราะเราออกกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเป็นตัวกำหนดในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะการมีตัวแทนพรรคประจำเขตแต่ละเขต แต่เมื่อไหร่ที่รัฐธรรมนูญผ่านมาเรียบร้อย ไพรมารีโหวตก็ต้องกลับมาที่ 400 เขต ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ในขณะนี้เรายังทำไม่ได้ ต้องเดินตามกฎหมายเดิมก่อน” นายทรงศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image