จว.ท่องเที่ยวฉีดวัคซีนโควิดสูงกว่า 70% แต่ยังพบคลัสเตอร์ย่อยหลายพื้นที่

จว.ท่องเที่ยวฉีดวัคซีนโควิดสูงกว่า 70% แต่ยังพบคลัสเตอร์ย่อยหลายพื้นที่

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงจับตาสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ก่อนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว ว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิดรักษาหาย 10,612 ราย มากกว่าติดเชื้อใหม่ที่พบ 10,111 ราย เสียชีวิต 63 ราย โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีและมีโรคเรื้อรัง ร้อยละ 94 กำลังรักษา 107,226 ราย ผลการตรวจ ATK 32,472 ตัวอย่าง พบผลบวก 1,612 ราย คิดเป็น ร้อยละ 5 ภาพรวมการติดเชื้อลดลงแต่เริ่มมีความทรงตัว พื้นที่ติดเชื้อเกิน 100 ราย ยังใกล้เคียงเดิมทุกวัน

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า กรมควบคุมโรคประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินรวบรวมรายละเอียดพื้นที่ พบว่า หลายพื้นที่ยังมีคลัสเตอร์ติดเชื้อรายใหม่ขึ้นมาต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่ติดเชื้อจำนวนมากๆ แต่เป็นจุดย่อยๆ เช่น ตลาด จ.จันทบุรี 43 ราย, แคมป์ก่อสร้าง จ.จันทบุรี 3 ราย จ.ระยอง 29 ราย, ล้งผลไม้ จ.จันทบุรี 2 ราย, ร้านอาหาร จ.จันทบุรี 6 ราย, สถานศึกษา จ.ตรัง 7 ราย จ.ฉะเชิงเทรา 7 ราย จ.ลพบุรี 5 ราย, สถานที่ทำงาน จ.สุรินทร์ 4 ราย จ.ลำพูน 11 ราย จ.พิจิตร 7 ราย และงานศพ จ.ลำพูน 2 ราย จ.ขอนแก่น 3 ราย จ.เลย 4 ราย จ.สระแก้ว 4 ราย จ.กาญจนบุรี 9 ราย เป็นต้น

“ทั้งนี้ การจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดและเปิดเมือง เราไม่ได้ดูตัวเลขการติดเชื้ออย่างเดียว แต่ดูหลายอย่างประกอบกัน เช่น ผู้ป่วยอาการหนักปอดอักเสบรักษาใน รพ. หากระบบรองรับได้ดี แม้การติดเชื้อมีการแกว่งตัวบ้างอาจไม่ใช่ประเด็นข้อบ่งชี้ให้หยุดมาตรการ หลายประเทศการติดเชื้อกลับมาสูงขึ้น แต่ก็ยังเปิดประเทศรับผู้เดินทางต่อเนื่อง จึงต้องติดตามต่อเนื่องว่าแต่ละพื้นที่มีการป่วยหนักเท่าไร เปิดประเทศแล้วแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ รวมถึงการใส่เครื่องช่วยหายใจและการเสียชีวิตด้วย ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยอาการหนักปอดอักเสบและใส่เครื่องช่วยหายใจลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีการประชุมร่วมกันแล้วว่าหากเปิดประเทศแล้วติดเชื้อ มีการนอน รพ.เยอะขึ้นถึงประมาณไหนจะต้องตอบรับหรือปรับมาตรการอย่างไรให้เหมาะสม แต่จะเข้มมาตรการป้องกันติดเชื้อ เพราะหากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอาจทำให้สัดส่วนผู้ป่วยหนักและใส่เครื่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นได้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงสถานการณ์ประเทศไทยว่า ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว โดย กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑลแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ฉีดวัคซีนครอบคลุมมาก พื้นที่ภาคใต้ที่กำลังระบาด กำลังพยายามบริหารจัดการดูแลเต็มที่ มีทีมส่วนกลางดูแลและเสริมวัคซีนไฟเซอร์ลงไป ซึ่งเป็นคนละส่วน ไม่กระทบเป้าหมายการฉีดนักเรียน ทั้งนี้ เมื่อผ่อนคลายมีกิจกรรมต่างๆ ขอให้ป้องกันเต็มที่สูงสุดตลอดเวลา ซึ่งอาจสบายใจเกินไป เห็นแนวโน้มไม่น่ากังวล หรืออาจเห็นเกิดขึ้นพื้นที่อื่นไกลจากเราก็อย่าเพิ่งวางใจ อย่าการ์ดตกป้องกันสูงสุดตลอดเวลาทุกที่และทุกคน สถานประกอบกิจการจัดมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง (COVID Free Setting) เราจะปลอดภัยไปด้วยกัน เพราะการติดเชื้อที่สูงขึ้น

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีนวันที่ 17 ตุลาคม เพิ่มขึ้น 475,053 โดส สะสม 65,677,794 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 37.6 ล้านราย คิดเป็น ร้อยละ 52.3 เข็มที่ 2 ร้อยละ 36.2 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 2.7 ส่วนนักเรียนอายุ 12-17 ปี ฉีดแล้ว 1.13 ล้านราย คิดเป็น ร้อยละ 25.3

“ขณะนี้มีผู้ปกครองแสดงความจำนงเพิ่มเติมเข้ามา วัคซีนไฟเซอร์มีการกระจายวันนี้พรุ่งนี้จะถึงครบถ้วนในการฉีดเข็ม 1 จะไม่มีประเด็นว่าที่ใดได้วัคซีนน้อยกว่าที่แจ้งเข้ามา ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ฉีดเข็มแรกแล้วร้อยละ 72.9 โดย กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี สมุทรปราการ ฉีดได้สูง ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะฉีดเพิ่มขึ้นตามมา กลุ่ม 608 เข็มแรกฉีดได้ ร้อยละ 73.5 ส่วน 10 จังหวัดจับตามอง (Watch List) ฉีดเข็มแรกร้อยละ 45 ดังนั้น สิ้นเดือนนี้ต้องเร่งฉีดให้ถึงเป้าหมาย ร้อยละ 50 ขณะนี้เรายังใช้วัคซีนไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นสูตรหลัก แต่แอสตร้าฯ อาจไม่ได้ส่งตามจำนวนบ้าง แต่ก็ใกล้เคียง เพื่อป้องกันปัญหาขาดตอน คณะกรรมการวิชาการเสนอ ศบค.เห็นชอบสูตรซิโนแวค-ไฟเซอร์ เพื่อให้ช่วงที่แอสตร้าฯ ตึงมือ มาช้ากว่ากำหนด หรือต่ำกว่าจำนวนคาดประมาณ ซึ่งเรื่องปกติในภาวะฉุกเฉินที่เน้นมาตรฐานปลอดภัยสูงสุด อาจส่งล่าช้าบ้างก็มีสูตรซิโนแวค-ไฟเซอร์ใช้ได้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image