โควิดคร่าหญิงตั้งครรภ์แล้ว 95 ราย ในรอบ 6 เดือน สธ.วอนกว่า 2 แสนคน รีบรับวัคซีน ยันปลอดภัย

โควิดคร่าหญิงตั้งครรภ์แล้ว 95 ราย ในรอบ 6 เดือน สธ.วอนกว่า 2 แสนคน รีบรับวัคซีน ยันปลอดภัย

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ ว่าทั่วโลกหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 50-60 จากภาวะปกติ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์ในหลายประเทศ ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 ส่วนในประเทศไทยตั้งแต่ตุลาคม 2563-กันยายน 2564 หรือการระบาดระลอกที่ 2-3 มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 192 คน เสียชีวิตจากโควิดถึง 78 คน คิดเป็นร้อยละ 38 ถือว่าสูงมาก เป็นปีแรกที่การเสียชีวิตหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เกิดจากโรคโควิด-19

นพ.เอกชัยกล่าวว่า สำหรับช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-16 ตุลาคมที่ผ่านมา หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 4,778 ราย ทารกติดเชื้อ 226 ราย มารดาเสียชีวิต 95 ราย ทารกเสียชีวิต 46 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สำหรับนโยบายการฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์เริ่มเมื่อเดือนกรกฎาคม หรือ 3 เดือนที่ผ่านมา และเริ่มรณรงค์หนักขึ้นในช่วงการระบาดที่สูงขึ้นในเดือนสิงหาคม พบว่าหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนเข็มแรก 7.5 หมื่นคน เข็มที่ 2 อีก 5.1 หมื่นคน และเข็มที่ 3 รวม 526 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตั้งครรภ์ รับซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับการกระตุ้นเข็มที่ 3

“ช่วงเดือนธันวาคมนี้จะมีหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ประมาณ 3 แสนคน ดังนั้น ขณะนี้ฉีดได้เพียงร้อยละ 25 โดยเขตสุขภาพที่ 6 ภาคตะวันออก ฉีดได้สูงประมาณ ร้อยละ 40 ภาคกลาง เช่น ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉีดได้ประมาณกว่าร้อยละ 30 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีหญิงตั้งครรภ์มาก ยังฉีดได้น้อย เพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น จึงต้องรณรงค์ให้คนที่เหลือเข้ารับวัคซีน เพราะหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ไม่มีประวัติการรับวัคซีน รวมถึงกลุ่มที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีน และยังเป็นสาเหตุทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต” นพ.เอกชัยกล่าว

โฆษกกรมอนามัยกล่าวว่า จากผลสำรวจอนามัยโพล หญิงตั้งครรภ์กับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระหว่างวันที่ 15-29 กันยายน 2564 จากหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ 1,165 คน พบว่า ร้อยละ 98 ฝากครรภ์แล้ว ส่วนใหญ่อยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านมากกว่า 2 คนขึ้นไป ครึ่งหนึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย

Advertisement

“ถามว่าจะฉีดหรือไม่ ประมาณร้อยละ 60 บอกว่าตั้งใจจะฉีด ที่เหลือยังลังเล สาเหตุที่ลังเล พบว่า 1 ใน 3 กังวลเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียงของวัคซีน และ 1 ใน 3 ไม่มั่นใจประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนที่เหลือเป็นประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความกังวล เช่น เข้าไม่ถึง ไม่รู้จะไปฉีดที่ไหน ไม่มีเวลา เป็นต้น ส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยวัคซีน ขณะนี้ สธ.พยายามให้ความรอบรู้และข้อมูลว่าไม่ต้องกังวล เพราะตรวจสอบและศึกษาแล้วว่าวัคซีนที่นำเข้ามาฉีดนั้นมีความปลอดภัยทุกตัว” นพ.เอกชัยกล่าว

โฆษกกรมอนามัยกล่าวว่า นอกจากนี้ผลสำรวจพบว่า สตรีมีครรภ์จำนวนมาก ร้อยละ 50-60 ยังต้องไปทำงานนอกบ้าน เป็นข้อกังวลว่าถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนและไปทำงานนอกบ้านด้วยจะป้องกันตนเองอย่างไร เพราะยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ขณะที่การป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ทำได้ดี คือสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อออกไปในที่สาธารณะ เว้นระยะห่างเมื่อเข้าที่ชุมชน ล้างมือ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ส่วนที่ยังทำได้น้อย คือการป้องกันตนเองในบ้าน ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม แยกของใช้ส่วนตัว จับหน้ากาก กินข้าวร่วมกัน

“เรารู้กันว่าสตรีมีครรภ์เกินร้อยละ 70 ติดเชื้อจากในบ้าน และข้อมูลสำรวจก็ออกมาอยู่ร่วมสมาชิกในบ้านเยอะ แนะนำว่าถ้ายังไม่ฉีดควรป้องกันตนเองสูงสุด ถ้าเป็นไปได้ให้สวมหน้ากากในบ้านด้วย และไม่ควรรับประทานอาหารร่วมกัน ถอดหน้ากากพูดคุย อาจแลกเปลี่ยนเชื้อกันได้ และทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม” นพ.เอกชัยกล่าว

Advertisement

นพ.เอกชัยกล่าวว่า หญิงมีครรภ์ยังกังวลเรื่องวัคซีน บางส่วนรอฉีดวัคซีนที่ตัวเองต้องการ ทำให้รับวัคซีนล่าช้าไปเรื่อยๆ รวมถึงยังไม่มั่นใจสูตรไขว้ ทั้งที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สธ. องค์การอนามัยโลก หรือระดับสากลบอกว่า สูตรไขว้ฉีดได้ในสตรีมีครรภ์ มีความปลอดภัย ส่วนผลข้างเคียงในหญิงมีครรภ์ไม่ได้ต่างจากคนทั่วไปและหายเองได้ เช่น ปวดหัว ไข้เล็กน้อย อ่อนเพลีย ไม่ได้ร้ายแรงอะไร กินยาลดไข้ได้ และไม่ควรคิดว่าตนเองไม่มีความเสี่ยงหรือโอกาสติดเชื้อน้อย ถือเป็นความประมาท

“ขอรณรงค์ให้สตรีมีครรภ์ที่เหลือ 2 แสนกว่าราย รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสถานการณ์ที่ยังประมาทไม่ได้ หญิงให้นมบุตรรับวัคซีนก็ให้นมบุตรได้ ไม่มีผลต่อน้ำนม หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ฉีดวัคซีนลดการติดเชื้อ ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงหรือผลข้างเคียง ทุกประเทศแนะนำเหมือนกันหมด ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง แนะนำฉีดได้ตั้งแต่ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป” นพ.เอกชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image