มด-จักจั่น คู่หู นักพยากรณ์ ต่างฤดู

มด-จักจั่น คู่หู นักพยากรณ์ ต่างฤดู

วันที่ 19 ตุลาคม เฟชบุ๊ก สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เผยแพร่บทความ
เรื่อง มด & จักจั่น คู่หูนักพยากรณ์ ความเชื่อของมนุษย์จากพฤติกรรมสัตว์ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

เขาว่ากันว่าความเชื่อเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ โดยการยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริงหรือเป็นสิ่งที่เราไว้ใจ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความจริงที่ตรงตามหลักเหตุผลหรือหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง ฤกษ์ยาม หรือแม้แต่การทำนาย (พยากรณ์) เป็นต้น

ในอดีตคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พวกเขาต้องรู้ถึงสภาพของฝน ฟ้า อากาศ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก ชาวบ้านในต่างจังหวัดจะมีวิธีการพยากรณ์ฝน ฟ้า อากาศโดยการสังเกตสิ่งต่าง ๆ รวมถึงความเชื่อที่บอกเล่าสืบต่อกันมายังรุ่นสู่รุ่น

Advertisement

การชอบสังเกตของมนุษย์ ทำให้เกิดเป็นการพยากรณ์ได้ จากการดูพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิดที่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ วันนี้เราจะมายกตัวอย่างสัตว์สองชนิดที่ชาวบ้านในอดีตใช้ในการพยากรณ์ฝน ฟ้า อากาศ สัตว์สองชนิดนั้นก็คือ มด และ จักจั่น

มด เป็นสัตว์ที่ไวต่ออุณหภูมิและความชื้น จึงถือได้ว่าเป็นนักเตือนภัยชั้นยอด เพราะมดอาศัยอยู่ใต้ดินพวกมันจะมีสัญชาติญาณการรับรู้และเอาตัวรอดได้ดีกว่ามนุษย์ ทำให้พวกมันมีการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ได้อย่างยาวนาน

การพยากรณ์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมด ได้แก่ เมื่อเห็นมดขนไข่หรืออพยพเดินทางจากที่ลุ่มไปยังที่ดอนเดินกันเป็นแถวเป็นระเบียบและคาบไข่ของตนเองไปด้วยแสดงว่าจะเกิดฝนตกหนัก ถ้าเห็นมดทำขุย ( คันดิน ) เป็นสันล้อมรูเป็นวงกลมสวยงามน้ำจะดีตลอดปี ถ้ามดแดงทำรังบนต้นไม้สูงปีนั้นลมฝนจะไม่แรงและถ้าเห็นประชากรมดแดงใหญ่ ( แม่เป้ง ) เดินเพ่นพ่านจะเข้าสู่ฤดูฝน เป็นต้น

จักจั่น เป็นแมลงที่อยู่มาตั้งแต่ยุคไทรแอสสิก (Triassic) ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือเป็นยุคจุดเริ่มต้นของไดโนเสาร์นั้นเอง จักจั่นอาศัยอยู่ในบริเวณเขตร้อน เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแมลงที่มีขนาดใหญ่ ส่งเสียงได้ไพเราะ และเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว

เรามักจะได้ยินเสียงร้องของพวกมันในช่วงฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงเวลาที่พวกมันต้องหาคู่ครอง โดยเสียงที่พวกเรามักจะได้ยินเป็นเสียงร้องของตัวผู้ พวกมันจะแสดงพลังเสียงให้ตัวเมียได้เห็นศักยภาพและทำให้เกิดความพึงพอใจ เสียงร้องของจักจั่นตัวผู้นั้นดังมากกว่า 100 เดซิเบล

การพยากรณ์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของจักจั่น เช่น พวกจักจั่นจะส่งเสียงกรีดร้องดังระงมแสดงถึงการเข้าสู่ฤดูแล้ง หรือ ฤดูร้อน แล้ว

สัตว์ทั้งสองชนิดนี้คือตัวอย่างความเชื่อในการพยากรณ์อากาศที่กลายเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาและมันเป็นเรื่องเล่าที่พบเห็นหรือเกิดขึ้นจริง

“ มดคือตัวแทนการพยากรณ์ฤดูฝน และ จักจั่นคือตัวแทนการพยากรณ์ฤดูร้อน ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image