อย.ยันใบกระท่อมไม่ต้องขออนุญาต อย. แต่น้ำต้ม ชาที่มีส่วนผสม ต้องผ่านประเมินความปลอดภัย

อย.ยันใบกระท่อมไม่ต้องขออนุญาต อย. แต่น้ำต้ม ชาที่มีส่วนผสม ต้องผ่านประเมินความปลอดภัย

วันนี้ (22 ตุลาคม 2564) นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขณะนี้พืชกระท่อมได้รับการปลดล็อกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 และให้ไปกำกับดูแลภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชกระท่อม พ.ศ. … โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

“อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงทำความเข้าใจว่า ในส่วนของใบกระท่อมซึ่งเป็นวัตถุดิบนั้น ไม่ต้องไปยื่นขออนุญาตกับ อย. แต่น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตผลิตตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 กรณีนำกระท่อมมาปรุงประกอบอาหาร ซึ่งขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย (ลำดับที่ 52 กระท่อม) เพื่อให้การใช้ส่วนของพืชกระท่อมและสารสกัด สามารถเป็นส่วนประกอบในอาหารได้” นพ.วิทิต กล่าว

รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อย.จึงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกระท่อมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยของอาหาร และส่งมอบฉลากให้ อย.ตรวจอนุมัติก่อนนำไปใช้ ตามเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 376) พ.ศ.2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel food)

Advertisement

“กระท่อมเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์และสรรพคุณที่หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจก็คือ ร่างกายของคนเราไม่สามารถย่อยก้านและใบกระท่อมได้ การบริโภคก้านใบกระท่อมในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ที่เรียกว่า ภาวะถุงท่อม ดังนั้น ขอให้บริโภคด้วยความระมัดระวัง และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีภาวะผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์” นพ.วิทิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image