U2T เตรียมเฟส 2 จ้างงานครบ ทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ

“ผมประทับใจผลงาน U2T ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยเฉพาะในเรื่องการแปรรูปอาหารที่เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ชาวบ้านพอใจ นักศึกษาได้ความรู้ อาจารย์ก็ได้ให้วิชาทั้งกับชุมชน มหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ได้รับการจ้างงานจึงอยากให้โครงการ U2T ได้ทำต่อ”

ศ.(พิเศษ)เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวระหว่างการประชุมสรุปผลการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย โดยมี ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. และผู้บริหาร ร่วมประชุม

โดย รศ.ชยาพร ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล.ได้รายงานความคืบหน้าโครงการ ว่า มฟล.จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ 165 คน ประชาชน 87 คนและนักศึกษา 89 คนรวม 341 คน ลงพื้นที่ทำงานและเก็บข้อมูลร่วมกับชุมชนใน 15 ตำบลของ 6 อำเภอ คือ เมืองเชียงราย ขุนตาล เชียงของ แม่จัน แม่สาย แม่ฟ้าหลวงและเวียงป่าเป้า

Advertisement

“ผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานของ U2T ได้ก่อให้เกิดวิสาหกิจชุมชน มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบของชุมชน การพัฒนาช่องทางการตลาดเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น” อธิการบดี มฟล.กล่าว

ศ.(พิเศษ) เอนก กล่าวว่า หลังจากนี้ จะมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ในโครงการ U2T เพื่อเอาผลผลิตที่ได้ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศให้ได้ โครงการ U2T ระยะที่ 2 จะเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นและต่อยอดจากระยะที่ 1 กำลังส่งข้อเสนอโครงการให้สภาพัฒน์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย U2T ระยะ 2 นี้ จะขยายไปให้ครบทุกตำบล ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ จะยกระดับการทำงาน โดยเน้นเรื่องของ 1.ขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาตามเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 ภูมิภาค เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาพื้นที่รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 2.BCG โมเดล ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ อว.จะรวบรวมทุกมหาวิทยาลัยในสังกัดมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ

Advertisement

“สำหรับโครงการ U2T ถ้าไม่คิดให้ใหญ่ก็จะกลายเป็นแต่อีเวนต์ อว.ต้องกัดไม่ปล่อย นี่ถือเป็นลมหายใจใหม่ๆ ให้กับมหาวิทยาลัย เราต้องทำเรื่องพวกนี้ให้กับประเทศชาติ เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน นับแต่วันนี้ถึงปี 65 ให้ถือเป็นปี “ปล่อยของ” ของ อว.ต้องแสดงศักยภาพที่มีให้คนไทยได้เห็น รวมถึงนานาชาติในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ในปีหน้าด้วย” ศ.(พิเศษ)เอนก ระบุ

หลังประชุม ศ.(พิเศษ)เอนก และผู้บริหาร อว.ลงพื้นที่ ต.นางแล ซึ่งเป็นชุมชนที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและมีผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่คือสับปะรดนางแล ที่ชุมชนต้องการให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากสับปะรดเพื่อจำหน่ายเป็นของฝากและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่โครงการ U2T จะเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน พบว่าสินค้าชุมชนผลิตผลสดจำหน่ายได้น้อยลงเพราะโควิด-19 คุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีความสม่ำเสมอ มีอายุการเก็บระยะสั้น เป็นต้น แต่หลังจากที่ โครงการ U2T ลงพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา อาทิ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยใช้องค์ความรู้และงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยปรับปรุงคุณภาพสินค้าและยึดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดผู้บริโภค เพิ่มช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ เป็นต้น

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ที่วัดสันต้นกอก หมู่ 9 หมู่บ้านศรีป่าซาง ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ในพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งนำนักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T มาทำโครงการธนาคารขยะชุมชน ในพื้นที่ 11 หมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยจากหอพัก บ้านเรือนและร้านอาหาร

ทั้งนี้ น.ส.สิริพัชร ช่วงกูด ผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T กล่าวว่า ทีม U2T จำนวน 18 คนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาขยะร่วมกับเทศบาลตำบลท่าสุดและทีม อสม.ในพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.2564 รณรงค์ให้ชุมชนคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด จากนั้น ได้จัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อให้ชุมชนนำขยะหรือวัสดุรีไซเคิลมาให้ธนาคารแทนเงินสด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะคิดคำนวณตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการธนาคารขยะได้ทำการตกลงไว้กับร้านรับซื้อของเก่า จากนั้นก็แลกเปลี่ยนเป็นเงินเข้าบัญชีของผู้ฝาก ส่วนขยะที่ธนาคารรับฝากก็จะทำการคัดแยกและรวบรวมไว้ขายให้กับซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่า

โดยขณะนี้ได้นำร่องธนาคารขยะชุมชนใน 2 พื้นที่ คือ หมู่ 2 บ้านสันต้นกอก และหมู่ 9 บ้านศรีป่าซาง เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความพร้อม สามารถเป็นต้นแบบในการจัดทำธนาคารขยะในพื้นที่ ต.ท่าสุด เพื่อให้เกิดต้นแบบธนาคารขยะหมู่บ้าน อย่างน้อย 1 หมู่บ้านในชุมชน ตั้งเป้าลดปริมาณขยะใน ต.ท่าสุด ให้ได้ร้อยละ 40 จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 5-10 ตันต่อวัน

น.ส.สิริพัชร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T ยังได้มีการจัดกิจกรรมประเมินสุขอนามัยของร้านอาหารร่วมกับเทศบาลและ อสม. เพื่อวิเคราะห์ ทดสอบ หาสารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหารซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในพื้นที่ ต.ท่าสุด โดยร้านอาหารที่ผ่านการประเมินจะได้รับป้าย U2T Confirm โดยตั้งเป้าจะให้มีสถานประกอบการตัวอย่าง อย่างน้อย 15 แห่ง

ขณะที่นายสมศักดิ์ ศรีบุรี นายกเทศมนตรีตำบลท่าสุด กล่าวว่า โครงการ U2T ช่วยเรื่องขยะชุมชนได้มาก โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ชุมชนคัดแยกขยะ และก่อตั้งธนาคารขยะ ถือเป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น ช่วยลดปริมาณในชุมชน ส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมน่าอยู่ขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างรายได้เสริมและฝึกนิสัยการออมให้กับคนในชุมชนด้วย โดยขณะนี้ ตนได้ทำหนังสือถึงสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อขอใช้พื้นที่ 3-4 ไร่ มาทำการคัดแยกขยะ

ด้าน ศ.ศุภชัย กล่าวว่า ขยะสามารถทำเงินได้ ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย อว.พร้อมสนับสนุนธนาคารขยะชุมชนให้เกิดขึ้น และจะสนับสนุนทีม U2T แม่ฟ้าหลวงไปสู่การเป็นสตาร์ตอัพต่อไป

นี่คือ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ U2T ของ อว.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image