สธ.แจงเปิด ปท.บางพื้นที่ 17 จว. ย้ำพบติดเชื้อโควิด 15 ต่อแสนราย จ่อหยุดกิจกรรมทันที!

สธ.แจงเปิด ปท.บางพื้นที่ 17 จว. ย้ำพบติดเชื้อโควิด 15 ต่อแสนราย จ่อหยุดกิจกรรมทันที!

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงความพร้อมเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เพื่อเปิดการท่องเที่ยวในประเทศ ว่า สำหรับพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด หรือ พื้นที่สีฟ้า ไม่ได้เปิดรับผู้เดินทางทั้งจังหวัด แต่เปิดบางพื้นที่สำคัญที่เหมาะกับการเตรียมการทั้งสาธารณสุข ซีล รูต (Seal Route) การเปิดรับผู้ท่องเที่ยวเข้าประเทศ ทุกคนต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “หมอชนะ” ฉีดวัคซีนครบโดส มีประกันสุขภาพวงเงินประกันไม่น้อยกว่า 50,000 หมื่นเหรียญสหรัฐ ตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อมาถึงประเทศไทย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มเทสต์ ทู โก (Test to go) เมื่อเข้ามาตรวจหาเชื้อแล้ว ก็เดินทางต่อไป จากประเทศเสี่ยงต่ำ 45 ประเทศ กับ 1 เขตปกครองพิเศษ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เข้ามาโดยมีมาตรการต่างๆ ตามที่แต่ละกระทรวงร่วมกันกำหนด ซึ่ง สธ.เตรียมรองรับด้านสถานพยาบาล การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) การกำหนดจุดเฝ้าระวังโรค การฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะต้องทำรายละเอียดอีกครั้ง

2.กลุ่มแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ผู้เดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ แต่ต้องเข้าพื้นที่กำหนดใน 17 จังหวัด อย่างน้อย 7 วัน มีหลักฐานฉีดวัคซีนครบ ต้องจองที่พักมาตรฐาน SHA Plus อย่างน้อย 7 วัน เมื่อพักครบ 7 วัน จะต้องตรวจซ้ำด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) หรือแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK)

Advertisement

3.กลุ่มควอรันทีน (Quarantine) ต้องเข้าพักในสถานกักกันอย่างน้อย 7-14วัน ตรวจ RT-PCR ซ้ำ ในวันที่ 1 และ วันที่ 7 แล้วแต่กรณี

“อย่างไรก็ตาม การเตรียมการก่อนเปิดประเทศ สธ.ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ประเมินความมั่นคงด้านสุขภาพ เตียงผู้ป่วย ความพร้อมและการฉีดวัคซีนของประชากร เมื่อประเมินแล้วจึงเปิด ระหว่างการเปิดต้องมีระบบติดตามสถานการณ์ ทั้งนี้ มาตรการวัคซีนของคนในพื้นที่ในจังหวัดต้องฉีดมากกว่าร้อยละ 50 กลุ่ม 608 ต้องมากกว่า ร้อยละ 80 ส่วนระดับอำเภอต้องกำหนดมากขึ้นไปอีก เป็นประชากรมากกว่าร้อยละ 70 ดำเนินตามมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง (Covid Free Setting) ในสถานประกอบการ” นพ.ธเรศ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับมาตรการรองรับการระบาดตามหลักเกณฑ์ เช่น พบผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 15 รายต่อแสนประชากรต่อสัปดาห์ หรือ จำนวนมากกว่า 3 คลัสเตอร์ หรือ ผู้ป่วยเข้ารักษาในเตียงของจังหวัดมากกว่าร้อยละ 70 หรือพบเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งมีรายละเอียดในการประเมินเพื่อปรับลดกิจกรรม เช่น ไม่ให้เดินทางวงกว้าง ไปจนถึงให้นักท่องเที่ยวอยู่ในโรงแรม เพื่อกักตัวต่อ หรือหยุดการรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินของแต่ละจังหวัด

Advertisement

“กว่าพื้นที่นำร่องแซนด์บ็อกซ์ 17 จังหวัด จะสามารถดำเนินเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาได้ ต้องเตรียมความพร้อม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า หากมีสถานการณ์ขึ้น ก็พร้อมทบทวนมาตรการต่างๆ” นพ.ธเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จ.ภูเก็ต เรียกร้องให้ทบทวนมาตรฐาน SHAPlus โรงแรมรับนักท่องเที่ยว นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในการประเมินพบองค์ความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเพิ่มมาตรฐานได้ตลอด แต่สิ่งสำคัญคือ การติดตามประเมินจากผู้ให้บริการ ซึ่งจะเกิดเป็นมาตรฐานขึ้น แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มาตฐาน แต่อยู่ที่คนเข้ามา เช่น ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งตอนนี้ก็มีการพัฒนาขึ้น เพิ่มเรื่องการฉีดวัคซีน และตรวจ ATK

เมื่อถามว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่จะเปิดบ้านเปิดเมืองนั้น มีรายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) อยู่ระหว่างสำรวจจำนวนนักท่องเที่ยว แต่จากการประเมินคาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาวันละ 1 แสนราย ทั้งนี้ ภาพรวมของการเตรียมการเพื่อทำให้เกิดประเทศไทยร่วมกับความมั่นคงทางด้านสุขภาพและการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาถึงจุดที่มีความพร้อมแล้ว

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช ผู้ตรวจสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า สำหรับ 8 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ ที่ติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สระแก้ว จันทรบุรี ตราด จังหวัดชายทะเล 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และ ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ต่อกับเขาใหญ่ จึงมีความสำคัญในการเปิดประเทศอย่างมาก มีสนามบินสุวรรณภูมิเป็นจุดหลักรับผู้เดินทาง ตัวอย่างการเปิดท่องเที่ยว เช่น จ.ชลบุรี มีพื้นที่สีฟ้า คือ พัทยา อ.บางละมุง ศรีราชา เกาะสีชัง เตรียมการ 2 ส่วน คือ การรับวัคซีนของบุคลากรทำงานและประชากร ซึ่งเข็มที่ 1 ฉีดแล้วร้อยละ 74 อีกส่วนคือการเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาล ใน 37 แห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นศูนย์บริหารจัดการ ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

“มีการเตรียมความพร้อมในพื้นที่สีฟ้าในเขตฯ 6 ส่วนอีก 4 จังหวัด ที่เหลือที่ไม่ใช่สีฟ้า ก็เตรียมพร้อมเช่นกัน เพราะในกลุ่ม Test and go สามารถเดินทางไปจังหวัดใดก็ได้ เราเตรียมความพร้อมร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด” นพ.ณรงค์ กล่าวและว่า หากพบการระบาด ก็จะหารือเพื่อปรับมาตรการให้เหมาะสม

ด้าน นางจุฑารัตน์ มากคงแก้ว ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 มี จ.บุรีรัมย์ ซึ่งผ่านเกณฑ์ประเมินความพร้อมด้วยตนเอง อัตราติดเชื้อ 20-40 รายต่อวัน ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุมร้อยละ 59.04 ของประชากร ส่วนพื้นที่เป้าหมาย อ.เมือง ฉีดวัคซีนผ่านเกณฑ์ครอบคลุม ร้อยละ 75 อำเภออื่นๆ จะฉีดเพิ่มตามมา สถานที่ตรวจแล็บมีความพร้อม โดยตรวจ RT-PCR ที่ รพ.บุรีรัมย์ รพ.นางรอง และ รพ.สตึก ตรวจ ATK ผ่าน 23 หน่วยบริการ คือ รพ.บุรีรัมย์ รพ.นางรอง และ รพ.ชุมชน 21 แห่ง และตรวจ ATK 4 แห่ง Buriram Castle , Buriram Fast Lab , ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ

“นอกจากนี้ มีศูนย์หมอพร้อมสเตชั่น 3 แห่ง ใน อ.เมือง อ.นางรอง และ อ.สตึก ส่วนการเตรียมพร้อมโรงแรมที่พักมาตรฐาน SHA Plus มีโรงแรมรีสอร์ท 44 แห่ง แหล่งท่องเที่ยว 5 แห่ง ห้างสรรพสินค้า 5 แห่ง ร้านอาหาร 20 แห่ง สถานประกอบการต่างๆ รวม 99 แห่ง เน้นมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง สิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ สะอาดปลอดภัย ลดความหนาแน่น ผู้มารับบริการและผู้ให้บริการรับวัคซีนร้อยละ 100 โดยผู้ให้บริการตรวจ ATK ทุก 7 วัน ในวันศุกร์ ผู้รับบริการหากไม่ได้รับวัคซีนให้ใช้บริการจุดโซนนิ่ง นำอาหารกลับไปบริโภคที่บ้าน ไม่ให้เข้านั่งในร้าน” นางจุฑารัตน์ กล่าว

ด้าน นางกองมณี สุรวงษ์สิน ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 11 มีความพร้อมจากการนำร่องที่ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี เป็นต้นแบบเปิดรับนักท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเขต ซึ่งที่มีเปิดเพิ่มคือ เกาะพยาม จ.ระนอง ที่ถือว่าเป็นมัลดีฟส์ ไทยแลนด์ ทั้งนี้ ระนองเคยติดเชื้อสูงสุดเกือบ 300 คนต่อวัน ขณะนี้เตรียมพร้อมเปิดประเทศ การติดเชื้ออยู่ในช่วงขาลง รายใหม่ประมาณ 6-18 ราย สัปดาห์นี้ไม่มีผู้เสียชีวิต มีความพร้อมรับนักท่องเที่ยว คณะทำงานพูดคุยมาตั้งแต่เดือนกันยายน เตรียมพร้อม 8 ด้าน ที่เกี่ยวกับการเปิดจังหวัด ทั้งมาตรการดูแลปลอดภัย ผู้ประกอบการก็พร้อมมาตรฐานความปลอดภัย SHA Plus ชุมชนเกาะพยามมีการรณรงค์ให้บริการวัคซีนประชาชนในพื้นที่ ประกาศความพร้อมฉีดครบร้อยละ 100 ส่วนทั้ง จ.ระนอง ฉีดแล้วร้อยละ 63 การเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยสีแดง 41 เตียง สีเหลือง 222 เตียง และสีเขียว 3,829 เตียง ยังมีฮอสปิเทลรองรับ 2 แห่ง รวม 302 ห้อง ถือว่าเพียงพอรับนักท่องเที่ยว พร้อมเปิดรับวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ แน่นอน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image