สธ.อนุมัติฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง เปิดสูตรบูสต์โดสทุกชนิดตามคำแนะนำอนามัยโลก

สธ.อนุมัติฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง เปิดสูตรบูสต์โดสทุกชนิดตามคำแนะนำอนามัยโลก

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 4 พ.ย.64 ที่ประชุมรับทราบผลการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการป่วยหนัก เสียชีวิตได้ดีมากในทุกวัคซีน โดยได้ระดับมากกว่าร้อยละ 80-90 ขึ้นไป แต่เมื่อพบสายพันธุ์เดลต้า ประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อ (Effectiveness) จะลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ในทุกวัคซีน ข้อมูลมาจากการปฏิบัติจริง (Real World) จะต่างจากการวัดประสิทธิผลจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ว่าภูมิคุ้มกันขึ้นหรือไม่ ซึ่งไม่สำคัญเท่ากับประสิทธิผลจริง เนื่องจากตัวเลขมีปัจจัยแปรผันหลายประการ ซึ่งการศึกษานี้ใช้ฐานข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ของผู้ที่รับบริการในกรุงเทพมหานคร และข้อมูลการฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อม เมื่อเดือน ก.ย.64

นพ.โอภาสกล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลวัคซีนที่ฉีดในกรุงเทพฯหลักๆ ในช่วงนั้น พบว่าสูตรแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ ป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 54 ส่วนสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ ห่างกัน 4 สัปดาห์ ป้องกันได้ร้อยละ 70 ฉะนั้น หากดูจากการศึกษานี้ พบว่าสูตรไขว้มีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ เป็นอีกเหตุผลที่ระยะหลัง กรุงเทพฯ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี เนื่องจากฉีดวัคซีนได้ค่อนข้างมาก วัคซีนมีประสิทธิผลลดการติดเชื้อได้ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 50 เป็นข้อมูลที่ดีในจังหวัดอื่นๆ เพราะขณะนี้ทราบว่าวัคซีนอยู่ในแต่ละจังหวัดค่อนข้างมาก ก็ขอให้เร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า มติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการทั้งหมดได้นำเข้าสู่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเห็นชอบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ดังนี้ 1.การฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง (Intradermal) เนื่องจากมีข้อมูลว่าสามารถลดปริมาณการใช้วัคซีนได้ โดยประสิทธิผลใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) ตามปกติ แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังเห็นชัดกว่า แต่อาการไข้ลดลงกว่า เพราะใช้วัคซีนน้อยกว่า คณะกรรมการมีมติว่าสามารถฉีดเข้าในชั้นผิวหนังได้ โดยเฉพาะกรณีวัคซีนมีจำกัด หรือไม่เพียงพอ เช่น หากวัคซีนไม่พอ เดิมฉีดเข้ากล้ามเนื้อได้ 1 คน แต่ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง จะได้ 3-5 คน ก็จะเพิ่มการฉีดได้มากขึ้น

2.คำแนะนำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ห่างกับวัคซีนโควิด-19 จากเดิมที่ให้ห่างกัน 4 สัปดาห์ ลดมาเป็น 2 สัปดาห์ ขณะนี้คำแนะนำใหม่สามารถฉีดพร้อมกันได้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปเกือบ 80 ล้านโดสแล้ว พบผลข้างเคียงรุนแรงมีไม่มาก

Advertisement

3.กรณีการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯครบ 2 เข็ม คณะอนุกรรมการแนะนำฉีดเข็มที่ 3 ห่างจากการเข็มที่ 2 แล้ว 6 เดือนขึ้นไป ด้วยวัคซีนด้วยไฟเซอร์ ดังนั้น ผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯเข็มที่ 2 ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.64 สามารถไปติดต่อขอรับเข็มที่ 3 ตามความสมัครใจได้ที่ รพ.ใกล้บ้าน หากที่ใดมีความพร้อมแล้วก็สามารถฉีดได้ทันที ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่มีด้วย ส่วนผู้ที่จองวัคซีนโมเดอร์นาไว้ ซึ่งเป็นชนิด mRNA เช่นเดียวกัน ก็สามารถรับเข็มที่ 3 ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

“บางคนถามว่าฉีดเร็วขึ้น ยาวขึ้นได้หรือไม่ ต้องเรียนว่าหลักการภาพรวม ระยะห่างการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีปัจจัยแรกคือฉีดเร็วเกินไป ภูมิคุ้มกันอาจขึ้นไม่ค่อยดี แต่หากฉีดช้าก็มีโอกาสภูมิตกและติดเชื้อได้ ฉะนั้น ความสมดุลในระยะเวลาการฉีดจึงมีความสำคัญ” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า 4.กรณีที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เช่น แอสตร้าฯ แล้วมีอาการไข้สูง ท้องเสีย เป็นไข้หลายวัน จนไม่อยากฉีดเข็มที่ 2 หรือแพทย์พิจารณาว่ามีอาการค่อนข้างมาก ให้เปลี่ยนเป็นชนิดอื่นต่อไป คณะอนุกรรมการมีความเห็นว่าขอให้เปลี่ยนชนิดวัคซีนได้ กรอบการฉีดเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น แอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาได้ แต่ไม่แนะนำเป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม แต่หากเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 อาจใช้แอสตร้าฯได้ ส่วนคนที่ฉีดเข็มที่ 1 เป็นไฟเซอร์ โมเดอร์นา ก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ตามดุลพินิจของแพทย์ ส่วนกรณีที่มีความจำเป็นต้องไปต่างประเทศ ที่ปลายทางกำหนดเรื่องการฉีดวัคซีนต่างกัน ก็ขอให้จุดฉีดพิจารณาให้ฉีดได้ตามความต้องการของผู้ที่จะไปต่างประเทศได้ เนื่องจาก ขณะนี้เรามีวัคซีนค่อนข้างเพียงพอ แต่ขอให้พิจารณารายกรณี

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนกรณีวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา คณะอนุกรรมการมีคำแนะนำดังนี้ 1.ฉีดเข็มที่ 1 ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 4 สัปดาห์ ฉีดสำหรับผู้อายุ 12 ปีขึ้นไป 2.สำหรับการฉีดสูตรไขว้ คือซิโนแวค+โมเดอร์นา, แอสตร้าฯ+โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม+โมเดอร์นา และไฟเซอร์+โมเดอร์นา ให้ห่างกัน 4 สัปดาห์ตามคำแนะนำเอกสารกำกับยาของผู้ผลิต สำหรับการฉีดเข็มกระตุ้น หลังรับซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็มแล้ว สามารถฉีดโมเดอร์นาได้ หลังฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ เป็นต้นไป ส่วนผู้ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ก็ฉีดเข็มที่ 3 เป็นโมเดอร์นาได้ หลังเข็มที่ 2 แล้ว 6 เดือนขึ้นไป

“ที่ประชุมของ สธ.รับทราบดังนี้ ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนำข้อแนะนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละจังหวัด และหากประชาชนประสงค์รับวัคซีนขอให้ติดต่อกับจุดฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อนัดหมายขอรับการฉีด” นพ.โอกาสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image