ป่าไม้วอน อย่าตัดต้นตีนเป็ด ชี้มีประโยชน์มากกว่าโทษ ใครไม่ต้องการให้แจ้ง จะส่งคนไปล้อมให้

ป่าไม้วอน อย่าตัดต้นตีนเป็ด ชี้มีประโยชน์มากกว่าโทษ ใครไม่ต้องการให้แจ้ง จะส่งคนไปล้อมให้

วันที่ 6 พฤศจิกายน นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เวลานี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ไม้หลายชนิดเริ่มออกดอก โดยเฉพาะต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ ซึ่งเวลานี้กำลังเป็นประเด็นอยู่ในหลายพื้นที่ นั่นคือมีหลายคนรู้สึกว่า พญาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ด ให้ดอกที่มีกลิ่นแรง บางคนแพ้กลิ่น จึงตัดทิ้งเสียจำนวนมาก ทั้งๆ ที่พญาสัตบรรณเป็นไม้ยืนต้น ที่เป็นไม้ใหญ่ โตเร็ว มีคุณค่าทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพสูง จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากตัดทิ้งไป

“ต้องเข้าใจว่า เดิมทีนั้นต้นตีนเป็ดเป็นไม้ที่อยู่ในป่าดิบ ทั้งดิบแล้งและดิบชื้น แต่เมื่อราว 20 กว่าปีก่อน มีคนขยายพันธุ์เอามาปลูกในเมือง เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน โตเร็ว ลำต้นตรง มีลักษณะที่ดี แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสว่ากลิ่นของต้นตีนเป็ดรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้บางบ้านตัดทิ้งไปทั้งๆ ที่เป็นไม้ใหญ่ กิ่ง ก้าน ใบ ให้ร่มเงาตลอดทั้งปี แต่เมื่อออกดอกจะส่งกลิ่นเหม็นอยากตัดทิ้ง ซึ่งความจริงแล้ว ตีนเป็ด หรือพญาสัตบรรณ ออกดอกแค่ปีละครั้ง ครั้งหนึ่งมีระยะเวลาไม่นานนักราวๆ ครึ่งเดือนเท่านั้น” นายชีวะภาพกล่าว

รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า ดังนั้น ใครหรือบ้านไหน ที่มีความคิดจะตัดต้นตีนเป็ดทิ้ง อยากให้ทบทวนความคิดดังกล่าวอีกครั้ง คิดให้ดีว่าตอนที่เอามาปลูกใหม่ๆ ทำไมถึงเอามา เมื่อต้นออกดอกแค่ปีละครั้งที่ส่งกลิ่นปีละไม่กี่วัน แต่ในแง่การทำหน้าที่ในธรรมชาติ ต้นตีนเป็ดไม่เคยบกพร่อง ทั้งการเป็นไม้เบิกร่อง โตนำต้นอื่นเพื่อให้ร่มเงา ให้ไม้อื่นๆ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ มีกิ่งก้านสาขาที่ให้ร่มเงา ที่สำคัญคือ แต่ละปี พยาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ดนั้นผลิตออกซิเจนและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละหลายร้อยตัน

Advertisement

“หากใครคิดว่า ทนกลิ่นดอกตีนเป็ดไม่ได้ก็ให้หลีกเลี่ยง ต่างคนต่างอยู่ การใส่หน้ากากอนามัยก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง อดทนได้ก็อดทน เพราะต้นไม้นี้จะออกดอกส่งกลิ่นไม่กี่วันเท่านั้น หากเทียบถึงคุณประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพถือว่าไม่คุ้มค่าหากต้องตัดต้นตีนเป็ด เพราะการรังเกียจกลิ่น ทั้งนี้ บ้านใด พื้นที่ใดทนกลิ่นดอกตีนเป็ดไม่ได้จริงๆ ให้แจ้งมาที่กรมป่าไม้ ทางกรมป่าไม้มีทีมสำหรับการขุดล้อมต้นไม้ที่ผ่านการอบรมมาแล้ว พร้อมจะไปล้อมต้นตีนเป็ดไปไว้ในที่เหมาะสม และห่างไกลจากผู้ที่ไม่ชอบกลิ่น ซึ่งการล้อม หรือการย้ายไปปลูกที่เหมาะสมย่อมดีกว่าการตัดต้นไม้ทิ้งอย่างแน่นอน” รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image