วราวุธ ย้ำท่าทีไทยในค็อป26 ยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก

วราวุธ ย้ำท่าทีไทยในค็อป26 ยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก

วันที่ 6 พฤศจิกายน ในระหว่างการประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือค็อป26 ที่เมืองกลาสโกว สกอตแลนด์ นั้น ในนอกรอบ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้แทนไทยในระหว่างการประชุม โดยมี ดร.ณัฎฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) และผู้แทนไทยจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม โดยเลขาธิการ สผ.ได้เน้นย้ำเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

ดร.พิรุณ กล่าวว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม World Leaders Summit เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการมุ่งบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2065 ซึ่งหน่วยงานไทยต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนและแสวงหาโอกาสการสนับสนุนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยผู้แทนไทยหารือต่อความก้าวหน้าของประเด็นเจรจาที่ประเทศไทยให้ความสำคัญตั้งแต่มีการเปิดการประชุม COP26 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย อาทิ กรอบความร่วมมือภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส เกี่ยวกับกฎ ระเบียบ แนวทางการดำเนินงานของกลไกที่ใช้ตลาดและไม่ใช้ตลาด ซึ่งยังมีหลายประเด็นที่ไม่สามารถได้ข้อสรุป เช่น การกำหนดค่าธรรมเนียมจากถ่ายโอนเครดิตไปยังกองทุนด้านการปรับตัว (Share of proceed) การปรับบัญชี NDC ของประเทศในกรณีที่มีการถ่ายโอนเครดิตจากก๊าซอื่นๆ ที่ใช่และไม่ใช่ก๊าซเรือนกระจก การยินยอมและแนวทางให้มีการถ่ายโอนเครดิตจากการดำเนินโครงการภายใต้พิธีสารเกียวโตมายังกลไกภายใต้ข้อ 6.4 (Sustainable Development Mechanism) ของความตกลงปารีส การกำหนดโครงสร้างเชิงสถาบันของกลไกที่ไม่ใช่ตลาด เป็นต้น

Advertisement

ดร.พิรุณกล่าวว่า กรอบเวลาการดำเนินงานร่วมกันของเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ซึ่งยังมีทางเลือกที่หลากหลายเกือบ 10 ทางเลือก เช่น 5 ปี 10 ปี หรือแล้วแต่ละประเทศจะกำหนด และการกำหนดปีที่จะเริ่มใช้กรอบเวลาร่วมกันดังกล่าว และการกำหนดรูปแบบตารางการรายงานบัญชีก๊าซเรือนกระจก การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของ NDC และการรายงานการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพที่ได้รับภายใต้กรอบความโปร่งใสของความตกลงปารีสว่า ควรมีความยืดหยุ่นให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไร ควรบังคับใช้กับทุกประเทศหรือให้แต่ละประเทศสามารถพิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และการกำหนดกรอบเวลาในการพัฒนาระบบสำหรับการรายงานว่าควรดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อรองรับการจัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับแรกของภาคีได้ทันตามกรอบเวลาไม่เกิน ค.ศ.2024 เป็นต้น การกำหนดเป้าหมายการสนับสนุนทางการเงินระยะยาวที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงการระดมทุนให้ได้ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ตามเป้าหมายทางการเงินที่ได้ตกลงร่วมกันไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายดังกล่าวในขณะนี้

เลขาธิการ สผ.กล่าวว่า ในการเจรจาประเด็นต่างๆ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในประเด็นต่างๆ ที่สอดคล้องกับหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส มีความยืดหยุ่นต่อประเทศกำลังพัฒนาโดยคำนึงถึงสถานการณ์และขีดความสามารถของประเทศที่แตกต่างกัน พร้อมกับผลักดันให้มีการสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศกำลังพัฒนาทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว อย่างสมดุล และคาดหวังได้ อันจะนำมาสู่การขับเคลื่อนตามเป้าหมายของประเทศได้อย่างแท้จริง

Advertisement

เลขาธิการ สผ.ได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ขอให้ผู้แทนไทยเข้าร่วมการเจรจาโดยยึดถือกรอบท่าทีเจรจาของไทยสำหรับการประชุม COP26 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานภายในประเทศและแสดงถึงความรับผิดชอบของประเทศไทยต่อประชาคมโลกอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งได้แสดงความห่วงใยต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้แทนไทยโดยเน้นย้ำให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image