เครือข่ายไทยปลอดบุหรี่ จี้สภาฯ ทบทวนตั้งคนธุรกิจยาสูบเข้าทีมร่างนโยบาย

สมาพันธ์ฯ ไทยปลอดบุหรี่ จี้สภาผู้เแทนราษฎรทบทวนตั้งคนธุรกิจยาสูบเข้าทีมร่างนโยบาย ชี้ปย.ทับซ้อน
  1. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกสื่อสารสาธารณะ กรณีมีการตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ ในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณานโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันไว้ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ซึ่งประกอบด้วย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาผู้แทนราษฏร และสำเนาถึงประธานกรรมาธิการต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งวุฒิสภา เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นการขัดต่อพันธกรณี ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ที่มีข้อกำหนดในมาตรา 5.3 ให้ภาคีป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยธุรกิจยาสูบหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีข้อกำหนดข้อหนึ่งว่า “ภาคีต้องไม่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เข้าร่วมเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษา ในคณะกรรมการที่พิจารณากำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ เนื่องจากผลประโยชน์ของธุรกิจยาสูบ ขัดแย้งกับเป้าหมายด้านสาธารณสุขอย่างไม่สามารถที่จะออมชอมกันได้” ดังนั้น ประเทศไทย จึงควรดำเนินการตามมาตรา 5.3 อย่างเคร่งครัด โดยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร รวมทั้งข้าราชการประจำ ที่ต้องตระหนักรู้และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายสาธารณะด้านการควบคุมยาสูบ จากธุรกิจยาสูบและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

“การที่คณะอนุกรรมการฯ สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ จะทำให้รายงานที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ที่จะเสนอแนะต่อสภาผู้แทนราษฏร รัฐบาล ประชาชนทั่วไป จะเป็นรายงานที่ขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นรายงานที่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบเป็นที่ปรึกษา หากมีการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบตามรายงานที่มีปัญหาดังกล่าว จะส่งผลเสียต่อการสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งกรณีนี้เปรียบเทียบได้เหมือนการตีพิมพ์วารสารทางวิชาการ ที่มาตรฐานสากลผู้ร่วมงานวิจัยจะต้องไม่รับทุนสนับสนุนหรือสิ่งตอบแทนจากธุรกิจยาสูบหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เพราะจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ เข้าข่ายเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน จะต้องถูกปฏิเสธการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน” ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image