อนามัยโพลชี้ ปชช.กว่า 56% ไม่มั่นใจนั่งดริงก์ในร้าน สุ่มตรวจพบ 3 ร้านเมินมาตรฐาน

อนามัยโพลชี้ ปชช.กว่า 56% ไม่มั่นใจนั่งดริงก์ในร้าน สุ่มตรวจในกรุงพบ 3 ร้านเมินมาตรฐาน ปรับ 2 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวระหว่างแถลงประเด็นเปิดเมืองปลอดภัย คุมเข้มกินดื่มในร้านอาหาร ด้วยมาตรการ COVID Free Setting และ 10 มาตรการเข้ม ลอยกระทงปลอดภัย ว่า สำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ถือว่าเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในสถานประกอบการ เนื่องจาก 1.การรวมกลุ่มคนมากกว่า 1 คนขึ้นไป เพราะอาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอยู่รวมกัน 2.ผู้บริโภคมักใช้เวลานาน โดยหากมากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป จะเสี่ยงมากขึ้น 3.พฤติกรรมพูดคุย สังสรรค์ร่วมกัน ทั้งนี้ ผลของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอหอยมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ติดเชื้อลงปอดสูงขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย และความยับยั้งชั่งใจลดลง อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงได้ เช่น ไม่เว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากากอนามัย กินอาหารร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่มาจากเครื่องดื่มเอง และปัจจัยในการป้องกันตัวเองที่อาจลดลง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า จากผลอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1-14 พ.ย.64 สำรวจความคิดเห็นประชาชนกว่า 3,000 ราย ต่อการปรับมาตรการให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นมา พบว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยร้อยละ 56.8 เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่มากถึงร้อยละ 86.6 ไม่มั่นใจมาตรการป้องกันร้อยละ 56.3 จำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงร้อยละ 53.8 กลัวตัวเองติดเชื้อร้อยละ 17.7 และอื่นๆ เช่น การรวมกลุ่ม ผู้ดื่มป้องกันตนเองลดลง ร้อบละ 5.4 สำหรับประชาชนที่เห็นด้วย ร้อยละ 43.2 เนื่องจากเห็นว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 86.6 สร้างรายได้ให้พนักงานและเจ้าของกิจการ ร้อยละ 61.4 พบปะสังสรรค์ ร้อยละ 29 อยากบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ร้อยละ 22 และอื่นๆ เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้อยละ 6

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า จากผลสำรวจนี้ เมื่อถามว่าท่านเคยไปใช้บริการร้านอาหารที่อนุญาตดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ พบว่า เคยไป ร้อยละ 8.3 พบมาตรการที่ทำได้ดีคือ จัดอุปกรณ์สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แยกรายบุคคล ร้อยละ 65 มาตรการคัดกรองความเสี่ยงของพนักงานและผู้รับบริการ ร้อยละ 52.6 จัดระบบระบายอากาศที่ดี ร้อยละ 50.9 เห็นป้าย Thai Stop Covid-19 หรือ Covid-19 Free Setting ที่ติดหน้าร้าน ร้อยละ 27.4 เป็นต้น

Advertisement

“เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ในร้าน พบว่า เชื่อมั่น ร้อยละ 44.4 และไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 56.6 ทั้งนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า ประชาชนจะมั่นใจว่าปลอดภัยในการใช้บริการร้านอาหารที่อนุญาตดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ก็ต่อเมื่อร้านผ่านมาตรฐานรับรองของ สธ.โดยมีป้ายรับรอง ร้อยละ 70.7 มีการคัดกรองพนักงานด้วย ATK และได้รับวัคซีนครบ ร้อยละ 68.9 ลูกค้าได้รับการสุ่มตรวจเชื้อด้วย ATK ก่อนเข้าร้าน ร้อยละ 65.7 มีเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจเป็นระยะ ร้อยละ 56 จำกัดเวลาเข้าบริการ ร้อยละ 41.1 และอื่นๆ เช่น จำกัดจำนวนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โต๊ะที่นั่ง ร้อยละ 6.20 กล่าวโดยสรุปจากผลอนามัยโพล แสดงถึงประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่มั่นใจมาตรการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ซึ่งมาตรการส่วนบุคคล ทั้งฉีดวัคซีน ตรวจ ATK และปฏิบัติตามมาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง หรือชา พลัส (SHA Plus) ของร้านอาหาร เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ประชาชนมั่นใจยิ่งขึ้น” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า การให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ยังพบคง 3 กิจกรรมเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1.กิจกรรมส่งเสริมการขาย คล้ายสถานบันเทิงหรือสถานบริการ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิด 2.มีกิจกรรมเลี้ยงสังสรรค์เกินจำนวนกฎหมายกำหนด และ 3.มีกิจกรรมเต้นรำ ตะโกนเสียงดัง ของพนักงานและผู้รับบริการ

นพ.เกษม เวชสุทรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย

ด้าน นพ.เกษม เวชสุทรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กล่าวว่า การอนุญาตดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร จะมีการอนุญาตต่างกันในแต่ละจังหวัด ตามความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยจากการจัดตั้งคณะทำงานแบบบูรณาการ ทั้ง สธ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้สุ่มตรวจประเมินการดำเนินงานของร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ข้อมูลวันที่ 5 พ.ย.64 สุ่มตรวจ จำนวน 25 ร้าน ในพื้นที่ถนนข้าวสาร และเขตพระนคร พบว่า มาตรการต่างๆ ได้รับความร่วมมือดี เช่น การจำกัดเวลาบริโภค ที่แนะนำว่าไม่เกิน 2 ชั่วโมง ไม่มีกิจกรรมเลี้ยงสังสรรค์ รวมกลุ่ม งดการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แยกอุปกรณ์ส่วนุบคคล เป็นต้น โดยพบว่ามี 3 ร้านที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ โดยมีการดื่มใกล้ชิด เต้นรำ ตะโกนร้องเพลงร่วมกับนักดนตรี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เทียบปรับตามกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 51 ค่าปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่เพราะเป็นความผิดครั้งแรก จึงเปรียบเทียบปรับ 6 พันบาท

Advertisement

“มาตรการที่ยังทำได้น้อยคือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ในบางที่มีลูกค้าจำนวนมาก ร้านค้าอาจไม่เข้มงวดเรื่องนี้ จัดการไม่ได้ในการบริหารไม่ให้แออัด การจัดอุปกรณ์ฆ่าเชื้อที่โต๊ะยังทำได้ไม่ทุกโต๊ะ พนักงานมีการประเมินความเสี่ยงผ่านไทยเซฟไทยยังไม่ครบ 100% ซึ่งต้องเน้นย้ำเรื่องนี้ ไปจนถึงการกำกับมาตรการส่วนบุคคลขั้นสูงสุด (Universal Prevention)” นพ.เกษมกล่าว

นพ.เกษมกล่าวว่า ส่วนพื้นที่สีฟ้า 3 จังหวัดที่เหลือได้แก่ กระบี่ พังงา และ ภูเก็ต รวมทั้งหมด 604 แห่ง สุ่มตรวจ 105 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 17.5 พบว่า ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง และชา พลัส เนื่องจากเป็นช่วงต้นของการเปิด และคนมารับบริการไม่มาก ไม่มีนักท่องเที่ยวมาก จึงยังปฏิบัติได้ดี ทั้งนี้ 7 พฤติกรรมที่นักดื่มไม่ควรทำ ได้แก่ 1.ไม่ดื่มแก้ว ใช้ภาชนะร่วมกัน 2.ไม่พูดคุยใกล้ชิดกับคนไม่รู้จัก 3.ไม่ดื่มจนเมา 4.ไม่ตะโกน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 5.ไม่ดื่มเกินเวลา กลับบ้าน อาบน้ำทันที 6.ไม่ลืมล้างมือ เมื่อใช้ห้องน้ำร่วมกัน และ 7.ไม่ดื่มในร้านที่ไม่ได้รับมาตรฐานโควิด ฟรี เซตติ้ง และชา พลัส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image