เครือข่ายเยาวชนเปิดผลสำรวจพบขายลอตเตอรี่ให้เด็กต่ำ 20 ปี ชง 4ข้อ กองสลากฯ เข้ม กม.

เครือข่ายเยาวชนเปิดผลสำรวจพบขายลอตเตอรี่ให้เด็กต่ำ 20 ปี ชง 4 ข้อ กองสลากฯ เข้ม กม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย.64 มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และเครือข่าย Media Move ร่วมกันจัดเวที Talk online “ต่ำกว่า 20 ใครก็ขาย กฎหมายสลากบูด” พร้อมเปิดผลสำรวจ “การขายสลากให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พ่วงด้วยการขายเกินราคา”

น.ส.วศิณี สนแสบ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า จากการลงสำรวจ 55 จุดขาย ใน 14 เขต ทั่วกรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยให้กลุ่มอายุ 15-18 ปี ทดลองขอซื้อสลากฯ พบว่าผู้ขายร้อยละ 100 ขายสลากให้กับเด็กเยาวชน ไม่มีการสอบถามอายุ ไม่ขอดูบัตรประชาชน และไม่เอะใจแม้เด็กแต่งชุดนักเรียน ยังให้คำแนะนำเลขเด็ด และเสนอให้ซื้อมากกว่า 1 ใบ

“ที่เป็นไปตามคาดคือ ร้อยละ 98 ขายเกินราคา 80 บาท ขณะเดียวกัน ก็ทำการทดลองเข้าซื้อสลากทางแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่าอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถซื้อได้ แม้บางรายจะให้กรอกอายุระบุว่าไม่น้อยกว่า 20 ปี  จึงน่าสงสัยว่า ผู้ค้าสลากฯ รู้หรือไม่ว่าได้ทำผิดกฎหมาย หรือว่ารู้ แต่ไม่กลัว เพราะคิดว่าการขายสลากฯ ให้เด็กเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย จึงอยากให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายห้ามขายสลากให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีมาตรการเข้มข้นเหมือนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” น.ส.วศิณี กล่าว

Advertisement

นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวถึงสถานการณ์เด็กเยาวชนว่า การพนันยอดนิยมในหมู่เด็กเยาวชนขณะนี้ ได้แก่ ไพ่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน แทงบอล และเกมพนันออนไลน์ ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่อาจเข้าใจผิด คิดว่าเด็กไม่เล่นหวย

“ซึ่งในความจริงแล้ว ไม่ใช่ ทุกวันนี้เด็กหันมาซื้อและขายหวยกันมาก ผลสำรวจของนักวิชาการล่าสุดพบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 7 แสนคน ที่ซื้อสลากฯ สมมติเด็ก 7 แสนคนนี้ ซื้อสลากเดือนละ 1 ใบๆ ละ 80 บาท พวกเขาจะเสียเงิน 56 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 672 ล้านบาทต่อปี รัฐบาลได้ส่วนแบ่งตามกฎหมายร้อยละ 23 เท่ากับรัฐบาลกินเงินเด็กปีละประมาณ 150 ล้านบาท ทั้งๆที่ควรเป็นเงินที่นำไปใช้ทางอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า เรื่องนี้อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นเด็ก ฟังเด็ก และจริงใจกับเด็ก” นายณัฐพงศ์ กล่าว

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล เพิ่งถูกแก้ไขเมื่อปี 2562 ให้มีบทลงโทษเพิ่มนอกจากการขายสลากเกินราคาแล้ว ก็คือการห้ามขายสลากให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี กับห้ามขายสลากในสถานศึกษา จึงเป็นไปได้ที่ผู้ขายและประชาชนอาจยังไม่รู้กฎหมายข้อนี้ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ สนง.สลากฯ ต้องสื่อสารไปยังผู้ค้า และบังคับใช้กฎหมายให้เป็นจริง

“การขายสลากเกินราคาอาจจะแก้ยาก เพราะเกี่ยวข้องกับอิทธิพลและผลประโยชน์ แต่การห้ามขายสลากฯ ให้เด็กน่าจะทำได้อย่างตรงไปตรงมา ถามว่าทำไมต้องปกป้องเด็ก ก็เพราะสลากฯ เป็นการพนันประเภทหนึ่งที่ดูดเงินจากกระเป๋าของคนจำนวนมากไปเข้ารัฐ แล้วรัฐนำเงินมาจัดสรรให้กับคนถูกรางวัลเพียงหยิบมือ คือ เพียง ร้อยละ 1.4 เพราะในสลากฯ 1 ล้านใบ จะมีคนได้รางวัลเล็กหลักพันบาทประมาณ 1.4 หมื่นคน ได้รางวัลหลักหมื่นบาทประมาณ 160 คน ส่วนรางวัลหลักแสนได้แค่ 7 คน และหลักล้านบาทมีเพียงคนเดียว โอกาสถูกรางวัลจึงมีน้อยมาก เด็กจึงไม่ควรเข้ามาเสี่ยงที่จะเสียเงินในเรื่องนี้” นายธนากร กล่าว

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า มีข้อเสนอต่อ สนง.สลากฯ 4 ข้อ เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้เป็นจริง 1.รีดีไซน์ (redesign) ออกแบบใบสลากใหม่ เน้นข้อความไม่ขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีให้ชัดเจน เพราะใบสลากถือเป็นสื่อที่เข้าถึงคนหลายสิบล้านในทุกๆ สองสัปดาห์ ถ้าใช้พื้นที่สื่อนี้ให้คุ้มค่าจะเป็นประโยชน์มาก 2.รีไมน์ (remind)มีมาตรการเตือนผู้ค้ารายย่อยให้ต้องทำตามไม่เช่นนั้นจะถูกตัดโควต้า รวมถึงจัดทำป้ายประกาศ ณ จุดขายต่างๆ กำหนดให้ต้องติดในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน รวมถึงควรมีการรณรงค์ให้สังคมได้เข้าใจ หากผู้ค้ารายย่อยราวแสนรายที่เป็นคู่สัญญาของสนง.ทำจริงจังเรื่องนี้ ก็น่าจะมีผลให้ผู้ค้ารายย่อยอื่น ๆ ทำตาม 3.รีเลิร์น (relearn) เพราะทุกวันนี้สังคมไทยเรียนรู้การพนันแบบเข้ารกเข้าพงไปมากโดยมีสลากกินแบ่งเป็นตัวนำ เช่น เชื่อว่าถูกหวยเป็นเรื่องง่าย เฉียดคือใกล้ถูก เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศพยายามรณรงค์ให้ความรู้แก่เด็กเยาวชนและประชาชนของเขาให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการพนันอย่างถูกต้อง และอยู่กับการพนันอย่างรู้เท่าทัน และ 4.รีทิงค์ (rethink) คือ ทบทวนความคิดใหม่ ยอมรับว่าสลากคือการพนัน อย่าเลี่ยงบาลี ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ให้สังคมเกิดความเข้าใจตรงกัน เพราะทุกวันนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากที่สับสนว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลกับหวยใต้ดินใช่หรือไม่ใช่การพนัน พอคิดว่าไม่ใช่เป็นแค่การเสี่ยงโชค ก็เข้าหามันอย่างไม่คิดอะไรมากเท่าที่ควร การทำความจริงให้มีเพียงหนึ่งเดียวเพื่อหยุดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แล้วใช้เป็นโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้คนของเราอยู่ร่วมกับการพนันได้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ด้าน น.ส.กมลพรรณ สมหวัง ตัวแทนเยาวชน กล่าวว่า สังคมรอบตัวที่เล่นหวยซื้อสลากฯ กันจนเป็นธรรมดา พ่อแม่ใช้ให้ลูกชี้สลากฯ บ้าง หรือให้ลูกใบ้เลขบ้าง รวมถึงการรายงานข่าวของสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียล้วนมีผลต่อเด็กและเยาวชน เป็นการปลูกฝังค่านิยมพนันโดยไม่รู้ตัว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image