สปสช.ครบรอบ 19 ปี ยันสร้างหลักประกันสุขภาพไทยมั่นคง เร่งขับเคลื่อนภารกิจโควิด

สปสช.ครบรอบ 19 ปี ยันสร้างหลักประกันสุขภาพไทยมั่นคง เร่งขับเคลื่อนภารกิจโควิด

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงาน “วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ครบปีที่ 19 สร้างหลักประกันสุขภาพไทยอย่างมั่นคง และก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ของการก่อตั้ง สปสช. ว่า 19 ปี ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (2546-2550) มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจ ระยะที่ 2 (2551-2554) มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจและผู้ให้บริการมีความสุข ระยะที่ 3 (2555-2559) ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ ระยะที่ 4 (2560-2564) ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ทั้งนี้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในปี 2563 ความครอบคลุมประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ที่ร้อยละ 99.85 จากปี 2545 อยู่ที่ร้อยละ 90.79 ขณะที่อัตราการเข้าถึงบริการปี 2563 บริการผู้ป่วยนอก อยู่ที่ร้อยละ 3.45 (164.06 ล้านครั้ง) บริการผู้ป่วยใน ร้อยละ 0.12 (5.85 ล้านครั้ง) เพิ่มขึ้นจากปี 2545 บริการผู้ป่วยนอกอยู่ที่ร้อยละ 2.45 (111.95 ล้านครั้ง) บริการผู้ป่วยใน ร้อยละ 0.09 (4.30 ล้านครั้ง)

“จากผลงานที่ปรากฏทำให้ สปสช. ได้รับการปรับเป็น องค์การมหาชนกลุ่มที่ 1 พัฒนาและดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐเฉพาะด้าน” ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ปฏิบัติตามภารกิจองค์การมหาชนกลุ่มที่ 1 โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้เร่งเดินตามนโยบายรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในการดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการ รวมถึงการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด เริ่มตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณรองรับจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม การจัดสิทธิประโยชน์กรณ๊โรคโควิด-19 ทั้งการคัดกรอง ป้องกัน และรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมถึงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้รักษา” นพ.จเด็จ กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การร่วมสนับสนุนจัดบริการกรณีโควิด-19 ที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง โดย สปสช.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยบริการ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมมือกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.), ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation/Community Isolation : HI/CI) ที่ได้ร่วมกับกรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการเข้าถึงชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit : ATK) ที่ร่วมกับคลินิก ร้านยา โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการกระจายชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น เพื่อให้ประชาชนตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ได้ปรับหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าบริการให้รวดเร็วขึ้น เพื่อสนับสนุนการให้บริการกรณีโควิด-19 ประชาชน ตลอดการจัดระบบช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจคู่ขนานกับนโยบายรัฐบาลในการเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันประเทศ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนนโยบายสู่องค์กรดิจิทัล สปสช.ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 ที่คืบหน้าไปมาก และได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและการจัดบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Smart Office การตรวจยืนยันพิสูจน์ตัวตนในการเข้ารับบริการ การลงทะเบียนรับชุดตรวจ ATK เข้าสู่การรักษาในระบบ HI/CI ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายต่างๆ อย่างแอปพลิชันเป๋าตัง เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการคุ้มครองสิทธิประชาชนที่นอกจากการพัฒนาศักยภาพสายด่วน สปสช.1330 ที่เพิ่มคู่สายบริการถึง 3,000 คู่สายแล้ว ยังเพิ่มช่องทางติดต่อผ่านระบบออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่เพิ่มความสะดวกในการติดต่อให้กับประชาชนยิ่งขึ้น

Advertisement

“สถานการณ์โควิด-19 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์การทำหน้าที่ของกองทุนบัตรทองในการเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชาชนได้แม้ในยามวิกฤต ไม่เพียงสร้างความมั่นใจและความเข้มแข็งให้กับกองทุนฯ แต่ยังผลักดันให้ก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 อย่างมั่นคง โดยมีทิศทางการขับเคลื่อนที่มุ่งสร้างการมีส่วนร่วม ยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร จัดระบบการทำงานกับคณะกรรมการและกลไกอภิบาลทุกระดับ และเพิ่มความเข้มแข็งของระบบธรรมาภิบาล นำไปสู่ความยั่งยืนด้านสุขภาพ เป็นหลักประกันที่มั่นคงของคนไทยทุกคน” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image