ก.แรงงาน จับมือไอแอลโอ เปิดเวทีแลกเปลี่ยน หนุนการจ้างงานที่มีคุณค่าใน ปท.

ก.แรงงาน จับมือไอแอลโอ เปิดเวทีแลกเปลี่ยน หนุนการจ้างงานที่มีคุณค่าใน ปท.

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจ้างงานในประเทศไทย หลักสูตร “การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานระหว่างและหลังการระบาด ของ COVID-19” ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ โรงแรมโนโวเทลมารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดยมี นายแกรม บัคลี่ย์ ผู้อำนวยการไอแอลโอ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนักวิจัยและนักวิชาการ และผู้แทนลูกจ้างเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

นายสุรชัยกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างรุนแรง ทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ การท่องเที่ยว รวมถึงภาคเกษตรกรรม นายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน เช่น วิธีการทำงาน การบริการที่มีการปรับเปลี่ยนไป หรือการทำงานนอกสถานที่ทำงาน การทำงานจากที่บ้าน การซื้อขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีในการทำงาน การประชุมออนไลน์ เป็นต้น

“กระทรวงแรงงานซึ่งมีภารกิจหลักในการบริหารจัดการแรงงานของประเทศ และไอแอลโอ ได้เล็งเห็นถึงประเด็นดังกล่าว จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อเจรจาหารือกัน ให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อการส่งเสริมการจ้างงานที่ดี ที่จะร่วมกันเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน ความต้องการของแรงงานในกลุ่มอายุต่างๆ รวมทั้งเยาวชนและผู้สูงอายุ ปัญหาความท้าทายและอุปสรรคในการจ้างงาน และมีความเหมาะสมของแรงงานในแต่ละกลุ่ม ในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสอดคล้องและสนับสนุนกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานและตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้” นายสุรชัยกล่าว

Advertisement


นายสุรชัยกล่าวว่า ประเด็นที่ท้าทาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและสอดคล้องกับแรงงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จะต้องให้ความสำคัญและมีการวางแผน
การดำเนินงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนให้มีการจ้างงานกลุ่มเปราะบาง และประชากรเฉพาะกลุ่ม การปรับตัวของแรงงานทั้งในและนอกระบบของไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะและสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน ทั้ง Up-Skill และ Re-Skill ในสาขาที่เป็นที่ต้องการของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการบริการที่มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ การคุ้มครองแรงงานเพื่อส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าเพื่อให้แรงงานได้รับโอกาสในการจ้างและมีความมั่นคงในชีวิตตลอดจนมีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ผมมาเปิดการประชุมในวันนี้ ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ต้องขอขอบคุณไอแอลโอ องค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนักวิจัยและนักวิชาการ และผู้แทนลูกจ้าง ที่ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาแรงงานของประเทศ และหวังว่าผลการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายด้านแรงงาน ด้านการจ้างงานที่มาจากความเห็นของทุกภาคส่วน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำไปขับเคลื่อนในการพัฒนาแรงงานของประเทศต่อไป” นายสุรชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image