รมว.สุชาติ ดันโมเดล BCG เกาะสีชัง ฝึกทักษะทำกระชังปลาทะเล ควบขายออนไลน์

รมว.สุชาติ ดันโมเดล BCG เกาะสีชัง ฝึกทักษะทำกระชังปลาทะเล ควบขายออนไลน์

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง พร้อมมอบเรือไฟเบอร์กลาส จำนวน 2 ลำ ให้แก่ศูนย์เรียนรู้ฯ มอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการทำกระชังเลี้ยงปลาในทะเล จำนวน 20 คน และเยี่ยมชมการฝึกอบรมหลักสูตรการขายสินค้าออนไลน์ ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารส่วนราชการ อ.เกาะสีชัง และเจ้าหน้าที่ร่วมในกิจกรรมดังกล่าว

นายสุชาติ กล่าวระหว่างให้โอวาทแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ว่า รัฐบาลมีนโยบายและตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เน้นใช้วิธีการใหม่ เพื่อใช้พื้นที่เกษตรให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวาระของโลก อาทิ การลดปริมาณขยะ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ภัยพิบัติ การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น โดยกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ กพร. ดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการทำกระชังเลี้ยงปลาในทะเล เพื่อต่อยอดและสนับสนุนการประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำ ยกระดับรายได้เศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลใหม่ BCG ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

Advertisement

“ทั้งนี้ 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG  คือ การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น ให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบบทำน้อย ได้มาก จึงมอบหมาย กพร. โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตรการฝึกอาชีพ สาขาการทำกระชังเลี้ยงปลาในทะเล และขายสินค้าออนไลน์โดยนำร่องการฝึกอบรม ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง โดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี สำหรับการฝึกอบรมที่ อ.เกาะสีชัง เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างในอีกหลายโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาค โดยสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งมีศักยภาพในการแข่งขัน มีความเสมอภาคทางสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้” นายสุชาติ กล่าว

นายประทีป กล่าวว่า กพร. ได้ดำเนินการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โครงการฝึกอาชีพแรงงานนอกระบบเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ ซึ่งดำเนินการโดย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เป้าหมาย 400 คน เป็นประชาชนทั่วไปและแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.ชลบุรี โดยจัดฝึกอบรม จำนวน 2 หลักสูตร ประกอบด้วย การเลี้ยงปลาในทะเลและขายสินค้าออนไลน์ จำนวน 20 คน และการออกแบบบรรจุภัณฑ์และขายสินค้าออนไลน์ จำนวน 20 คน ระหว่างวันที่ 15 – 19 พฤศจิกายน 2564 ณ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี

Advertisement

“ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลาเก๋า โดยเลี้ยงในแพปลาขนาด 2.5 x 2.5 เมตร ซึ่งใน 1 แพปลา จะมี 4 หลุม ซึ่ง 1 หลุม เลี้ยงได้ 500 ตัว ใช้เวลาการเลี้ยงประมาณ 6 – 7 เดือน ซึ่งขนาดปลาพร้อมจำหน่าย 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 800 – 1,000 กรัม ราคากิโลกรัมละ 200 – 250 บาท ดังนั้น 1 หลุม สามารถจำหน่ายได้เป็นเงินประมาณ 80,000 – 100,000 บาท และ 1 แพ สามารถจำหน่ายได้ 320,000 – 400,000 บาท ซึ่งช่วยทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายประทีป กล่าวและว่า การเลี้ยงปลาในกระชัง ต้องใช้ทักษะ ความรู้ และความชำนาญไม่น้อยไปกว่าอาชีพอื่นๆ เนื่องจากความสำคัญจากหลายปัจจัยที่มีผลต่อการประกอบอาชีพนี้ อาทิ ความเหมาะสมของสถานที่ อุปกรณ์ สภาพน้ำทะเล อุณหภูมิ โรคที่มีสาเหตุมาจากปรสิต ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส แต่หากผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้และได้ฝึกปฏิบัติก็จะสามารถประกอบอาชีพ และสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ซึ่งอาชีพเลี้ยงปลา และการแปรรูปจำหน่ายสินค้าออนไลน์ควบคู่กันไปจะช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่าย สร้างมูลค่าทางอาชีพให้เพิ่มขึ้นได้อีกเท่าตัว สามารถตอบโจทย์การพัฒนาแรงงานในเศรษฐกิจฐานรากและสอดรับกับเศรษฐกิจชีวภาพได้ในอนาคตอันใกล้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image