สธ.ยัน RT-PCR สแกนโอไมครอนได้ ATK ยังมีประสิทธิภาพ แม้โควิดกลายพันธุ์

สธ.ยัน RT-PCR สแกนโอไมครอนได้ ATK ยังมีประสิทธิภาพ แม้โควิดกลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการติดตามเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ว่าสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลที่องค์การอนามัยโลกจัดชั้นไว้ เดิมมี 4 ตัวคือ อัลฟา เบต้า แกมม่า และเดลต้า ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นเดลต้า อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์โอไมครอนถูกจัดชั้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ ตรวจรหัสพันธุกรรมมาตลอดแม้จะไม่มีการระบาด ซึ่งข้อมูลตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.64 เป็นต้นมา ตรวจ 75 ตัวอย่าง จากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ทั้งที่มาจากสหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย กาตาร์ อังกฤษ รวมถึงเกาะมอริเชียส ในทวีปแอฟริกาด้านตะวันออก ตรวจเสร็จแล้ว 45 ตัวอย่าง ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน ยังพบเป็นสายพันธุ์เดลต้า และเดลต้าสายพันธุ์ย่อย ส่วนอีก 30 ตัวอย่าง อยู่ระหว่างรอผลตรวจวิเคราะห์อีก 1-2 วันนี้

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะที่ข้อมูลการตรวจหาสายพันธุกรรมไวรัสผู้เดินทางเข้าประเทศระบบไม่กักตัว (Test and go) ที่ให้ผลบวกในวันที่ 27 พ.ย.64 จำนวน 8 ราย จากโปแลนด์ รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม มองโกเลีย ไอร์แลนด์ และ สปป.ลาว ทั้งหมดยังเป็นสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ย่อย ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอนเช่นกัน

“วันนี้เรายังขีดเส้นใต้ 2 เส้นว่ายังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ว่าไม่สามารถหาเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้จริงหรือไม่ เนื่องจากสถาบันแห่งหนึ่งรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ถ้าอ่านละเอียดก็พบว่าเขาไม่ได้บอกอย่างนั้น ต้องเรียนว่ากรมวิทยาศาสตร์พูดชัดมาตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.64 ว่าห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (แล็บ) ที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์ ถ้าจะยืนยันว่าตรวจหาเชื้อเป็นผลลบ ต้องตรวจมากกว่า 1 ยีน หรือถ้าตรวจ 1 ยีน แต่ต้องมากกว่า 1 ตำแหน่ง โดยจะต้องเป็นผลลบทั้งหมด ถึงจะยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อ เช่นเดียวกับการตรวจยืนยันเป็นผลบวก ซึ่งการทำเช่นนี้จึงเกิดอานิสงส์ว่าเมื่อมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น เช่น โอไมครอน มันอาจทำให้ตรวจบางยีนไม่พบ หรือบางยีนอาจโผล่ขึ้นมา

Advertisement

“ดังนั้น การตรวจมากกว่า 1 ยีน โอกาสจะหลุดลอดไปก็ต่ำมาก แทบจะไม่มี แต่สำหรับการกลายพันธุ์แล้วพบว่ายีนหายไป 1 ตำแหน่ง ตรวจได้ไม่ครบ ก็อาจจะพบว่ายีนหนึ่งบวก อีกยีนลบ ซึ่งก็จะเป็นการสรุปไม่ได้ ซึ่งตามหลักปฏิบัติแล้วจะต้องไม่สรุป และตรวจเพิ่มต่อไป ดังนั้น หากสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาแล้วเกิดปัญหานี้ก็จะต้องมีการเอาสิ่งส่งตรวจไปตรวจที่แล็บอื่นต่อไป” นพ.ศุภกิจกล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์กล่าวยืนยันว่า ประชาชนอย่าตกใจ ย้ำว่า RT-PCR ที่เป็นมาตรฐานการตรวจของไทยและระดับโลก ยังสามารถวินิจฉัยสายพันธุ์โอไมครอนได้ ทั้งนี้ ผลการตรวจน้ำยาที่ใช้ตรวจ RT-PCR ตามที่ผ่านการประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว 104 ยี่ห้อ พบว่ามี 2 ยี่ห้อใช้ตรวจเฉพาะเป้าหมายยีน N และ S หมายความว่า หากมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งดังกล่าวหายไป ก็อาจตรวจไม่พบ นั่นหมายถึงแจ๊กพ็อตจริงๆ ที่น้ำยาไม่สามารถตรวจพบ แต่อีก 15 ยี่ห้อ ใช้เป้าหมายยีน S ร่วมกับยีนอื่นที่ไม่มีผลต่อการกลายพันธุ์ และอีก 87 ยี่ห้อ ใช้เป้าหมายยีน N และยีนอื่นประกอบ

“ฉะนั้น โอกาสที่จะหลุดรอดไปนั้นไม่มี มี 2 ใน 104 ที่อาจจะฟลุคแล้วตรวจไม่พบ ซึ่งเราจะประสานงานกับผู้นำเข้าว่าให้ดูรายละเอียดต่อไปว่ามีโอกาสที่จะพลาดมากน้อยแค่ไหน” นพ.ศุภกิจกล่าว

Advertisement

นพ.ศุภกิจกล่าวด้วยว่า ปกติการตรวจหาเชื้อ RT-PCR ปกติว่าเป็นหรือไม่เป็น จะไม่ทราบว่าเป็นสายพันธุ์อะไร จะทราบว่าผลบวกหรือลบเท่านั้น แต่เมื่อทราบว่าผลบวกจะมีจำนวนหนึ่งถูกสุ่มมาตรวจ เช่น อยู่ชายแดน หรือมาจากประเทศเสี่ยงก็จะนำมาตรวจหมดหาสายพันธุ์ ซึ่งการหาสายพันธุ์ที่ต้องรอการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว หรือ Whole genome sequencing ต้องใช้เวลานาน 5-7 วัน ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์จึงคิดเทคนิคเพื่อให้การตรวจรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากน้ำยาในการตรวจหาเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนยังไม่มี เรากำลังพัฒนาอยู่ คาดว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะได้ ระหว่างนี้จึงใช้หลักว่า หากเอาน้ำยา 2 ตัวของอัลฟ่า และเบต้า หากตรวจพบตำแหน่งที่กลายพันธุ์ทั้ง 2 ตัว คือตรวจเจอทั้งคู่แสดงว่าเป็นโอไมครอน

“โดยการตรวจ 1 ตัวอย่างจะมี 2 น้ำยาของอัลฟ่า กับเบต้า โดยหากพบตำแหน่งกลายพันธุ์ของอัลฟา คือ HV69-70deletion และตำแหน่งกลายพันธุ์ของเบต้า คือ K417N โดยหากพบทั้งคู่แสดงว่าเป็นโอไมครอน ซึ่งขณะนี้เราได้ประชุมคอนเฟอเรนซ์ให้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศให้ดำเนินการตรงจุดนี้ เพื่อความรวดเร็ว ส่วนแล็บอื่นๆ ก็สามารถส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์ที่ใกล้เคียงได้ อย่างชายแดนใต้ส่งศูนย์สงขลา ภาคเหนือส่งทางเชียงราย หรือเชียงใหม่ เป็นต้น แต่ไม่ได้ส่งทุกราย ต้องดูกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางเข้ามาในประเทศเสี่ยง หรือที่สงสัยว่าอาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น” นพ.ศุภกิจกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อสงสัยของบางกลุ่มว่าการตรวจด้วยชุด ATK ยังสามารถตรวจได้หรือไม่ โดยเฉพาะชุดตรวจเล่อปู๋ รวมทั้งขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุดละ 40 บาท นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ยังใช้ได้ แต่ข้อมูลเบื้องต้น โปรตีนที่ใช้ตรวจยังไม่มีผลกระทบเรื่องการกลายพันธุ์ แต่ก็ต้องมีการติดตามพิจารณาด้วย เพราะเดิมก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการแสดง หรือจดแจ้งว่าโปรตีนที่ใช้ตรวจไม่ได้มีผลต่อการกลายพันธุ์ ซึ่งตรงนี้จะมีการหารือกับทาง อย.ถึงเรื่องนี้เพื่อให้บริษัทได้ดำเนินการต่อไป

“ชุดตรวจ ATK หากผ่านการรับรองจาก อย.สามารถตรวจได้ เพียงแต่เมื่อเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องติดตามว่าในวันหนึ่งอาจมีโปรตีนบางชนิดหายไป ก็อาจมีผลได้ ซึ่งก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นพ.ศุภกิจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image