“ผอ.เขตพระนคร” ยัน ถ.ข้าวสารเข้มโควิด พบนักเที่ยวติดเชื้อแล้ว 10 ราย ปรับ 5 ร้านเมินมาตรการ

“ผอ.เขตพระนคร” ยัน ถ.ข้าวสารเข้มโควิด พบนักเที่ยวติดเชื้อแล้ว 10 ราย ปรับ 5 ร้านเมินมาตรการ

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นิวส ผู้อำนวยการเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กทม.ออกประกาศให้ร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีสัญลักษณ์ SHA หรือปฏิบัติตามมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง สามารถจำหน่ายและให้นั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ถึงเวลา 23.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ ว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติของเขตพระนคร ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการมากว่า 30 วัน นับตั้งแต่มีประกาศให้สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางสถานประกอบการเอง และ เทศกิจ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายสิ่งแวดล้อม โดยมีการลงพื้นที่ตรวจตราจนถึง 24.00 น. ของทุกวัน

“ถึงพรุ่งนี้จะเปลี่ยน เป็นการเปิดถึง 5 ทุ่ม เราก็จะยังลงพื้นที่กันเหมือนเดิม เพราะมันเป็นหน้าที่ของเรา มีการประชุมแถวกันถึง 3 รอบ อย่างถนนข้าวสาร เขาก็มีการจัดตั้งจุดคัดกรองของเขาเอง ได้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) เมื่อตรวจพบเชื้อ ก็จะมีรถพยาบาลที่ประจำอยู่ที่จุดคัดกรองนำตัวไปส่งที่ศูนย์พักคอยบริเวณวัดอินทร์โดยทันที ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1-29 พ.ย. พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปท่องเที่ยวในถนนข้าวสารแล้วประมาณ 10 ราย” นายวสันต์ กล่าว

ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวว่า ผู้ประกอบการถนนข้าวสารทุกราย เป็นร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ในระดับ SHA ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และปฏิบัติตามหลัก โควิด ฟรี เซ็ตติ้ง เพราะว่าประชาคมค่อนข้างเข้มแข็ง และให้ความร่วมมือดีมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางเขตพระนครมีบทลงโทษอย่างไร เมื่อสถานประกอบการไม่ผ่านการรับรอง SHA แต่เปิดให้นั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน รวมถึงสถานประกอบการที่ผ่านการรับรอง SHA แต่เปิดเกินเวลาเช่นกัน นายวสันต์ กล่าวว่า มีการออกบทลงโทษ และบังคับใช้มาแล้ว โดยผิดครั้งแรกจะโดนปรับ 6,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 12,000 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 20,000 บาท และส่งฟ้องศาล ซึ่งล่าสุดมีสถานประกอบการในถนนข้าวสารที่ถูกปรับแล้ว 5 แห่ง โดยส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ เช่น นั่งไม่เว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรืออะไรก็ตามที่ผิดต่อคำสั่ง กทม. ฉบับที่ 45 และ ฉบับที่ 46 ถ้าผิดข้อใดแม้แต่ข้อเดียวก็จะถูกปรับทันที

Advertisement

เมื่อถามต่อว่า ถนนข้าวสารจะมีการจัดการอย่างไร หากเกิดความแออัดขึ้น นายวสันต์ กล่าวว่า ถนนข้าวสารในขณะนี้ คนก็ยังไม่มาก ถ้ามากขึ้น จะมีการจำกัดคนเข้าเป็นตารางเมตร เพราะไม่อยากให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้น

“ผู้ประกอบการยอมได้กำไรน้อย ดีกว่าถูกสั่งปิด ผู้ประกอบการมีการประชุมหารือกันหลายรอบ เพื่อหาแนวทางที่ลงตัว ที่จะทำยังไงก็ได้ให้ถนนข้าวสารยั่งยืน เขาให้ความร่วมมือดีมาก ต้องขอชมเชย” นายวสันต์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image