สิงห์บุรี-สุราษฎร์ฯ แชมป์ติดโควิด ครองเตียงสูง สธ.ปรับระบบส่งต่อ รับเปิด ปท.-โอไมครอน

สิงห์บุรี-สุราษฎร์ฯ แชมป์ติดโควิด ครองเตียงสูง สธ.ปรับระบบส่งต่อ รับเปิด ปท.-โอไมครอน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีเตียง 194,883 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 28.8 ยังมีเตียงว่างทั้ง 3 กลุ่มสี แบ่งเป็น เตียงสีแดงสำหรับผู้ป่วยหนัก ไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ ทั้งประเทศมี 5,708 เตียง ครองเตียงร้อยละ 45.2 และเตียงระดับ 2 หรือสีเหลือง มี 73,427 เตียง ครองเตียงร้อยละ 44.5 ภาพรวมถือว่าสบายใจได้ ส่วนเตียงสีเขียวสามารถเพิ่มได้ไม่จำกัด เนื่องจากมีการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และมีฮอสปิเทล

นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่รวมกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น รพ.สนาม มีทุกเขตสุขภาพ 388 แห่ง ขณะนี้มีเตียงรวม 63,348 เตียง ครองเตียงร้อยละ 9.8 แม้บางจังหวัดผู้ป่วยจะลดลง ก็ยังอยู่ในความพร้อมที่จะเปิดได้เสมอ (Standby) เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ พร้อมกลับมาเปิดได้เสมอใน 24-72 ชั่วโมง ส่วนศูนย์พักคอย (Community Isolation) ทั่วประเทศ มี 134 แห่ง รวม 18,168 เตียง ครองเตียงร้อยละ 21.2 ขณะที่ฮอสปิเทลที่เป็นโรงแรมและจัดบริการทางการแทพย์ ทั่วประเทศมี 39,027 เตียง ครองเตียงร้อยละ 19.5 แต่บางจังหวัดอาจลดลงไปแทบไม่เหลือแล้ว เช่น เขตสุขภาพที่ 3 จ.นครสวรรค์

“ไม่ได้แปลว่าจะไม่เปิดบริการ แต่อยู่ในโหมดสแตนด์บาย เรียกว่าภาพรวมยังว่างอยู่สำหรับผู้ป่วยอาการไม่หนักเราสามารถรับมือได้ แม้ภาพรวมจะยังมีเตียงว่างแต่อาจมีเตียงหนาแน่นในบางจังหวัด หากพิจารณาเฉพาะจังหวัดที่ติดเชื้อขึ้นลงไม่มาก ประมาณ 100 รายต่อวัน หากเกิดระบาดขึ้นจำเป็นต้องใช้เตียงเหลือง หรือเตียงแดง มี 10 จังหวัด โดยมี 5 จังหวัดที่มีการครองเตียงเกินร้อยละ 70 คือขอนแก่น เตียงแดง ร้อยละ 72 เตียงเหลือง ร้อยละ 76.9, นครศรีธรรมราช เตียงแดง ร้อยละ 72.6 เตียงเหลือ ร้อยละ 73.9, พัทลุง เตียงเหลือง ร้อยละ 83.2, กระบี่ ครองเตียงทั้งหมด ร้อยละ 84.2 เตียงแดง ร้อยละ 88.1 และเตียงเหลือง ร้อยละ 89.4 และสตูล เตียงแดง ร้อยละ 72.7 จริงๆ หากยังอยู่ที่ร้อยละ 70 ถือว่าอยู่ในระดับปลอดภัย แต่หากถึงระดับร้อยละ 85-90 จะต้องเพิ่มขยายเตียงทันที หรือมีระบบส่งต่อในเขต ซึ่งเราวางระบบไว้แล้ว” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นย้ำ 5 จังหวัดนี้ให้ไปช่วยกันเตรียมตัวเผื่อว่ามีการเปิดประเทศ มีการเดินทางมากขึ้น หรืออาจมีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนที่กังวล ก็ให้เตรียมเตียงเผื่อไว้ด้วย หากมีเคสมากขึ้นมาทันทีจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในการส่งตัวผู้ป่วยข้ามจังหวัด ซึ่งภาพรวมของเขตทุกจังหวัดสามารถช่วยเหลือกันได้

Advertisement

“ส่วนจังหวัดที่เพิ่มขึ้นวันละ 100 รายต่อวัน ก็กังวลว่าถ้ามาทุกวันต้องอยู่อย่างน้อย 14 วัน หรือเคสหนัก 20 วัน ก็จะไม่พอ มี 5 จังหวัด โดยมี 2 จังหวัดที่มีการครองเตียงเกิน ร้อยละ 70 คือสิงห์บุรี เตียงแดง ร้อยละ 57.1 ถือว่ายังเพียงพอ แต่เตียงเหลือง ร้อยละ 71.2 ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ และสุราษฎร์ธานี เตียงแดง ร้อยละ 73.1 และเตียงเหลือง ร้อยละ 79.6” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า สำหรับกรุงเทพฯ มีผู้ป่วย 600-700 รายต่อวัน เป็นเวลานานพอสมควร เราเคยมีเตียง 5-6 หมื่นเตียงใน รพ. แต่เมื่อผู้ติดเชื้อลดลงเตียงก็ลดเหลือ 3.5 หมื่นเตียง แต่ถือว่ายังเตรียมเตียงเผื่อไว้มาก อยู่ในภาคเอกชนเกือบ 3 หมื่นเตียง รับผู้ป่วยแล้วเกือบ 7 พันราย ที่เหลือเป็น รพ.รัฐ ซึ่งเรามีระบบว่า

“ผู้ป่วยวันนี้ไม่ว่าตรวจด้วยตนเองหรือ รพ.รัฐ ถ้ามีอาการเล็กน้อยเข้ากักที่บ้านได้ ถ้ามีอาการมากขึ้น รพ.รัฐเราเตรียมเตียงหนัก ส่วนเตียงเบา รพ.เอกชนจะช่วยได้เยอะ จึงเลือกได้ว่าไป รพ.ไหนที่ใกล้บ้านได้ โดยภาพรวม กทม.ครองเตียง ร้อยละ 23 มีพื้นที่รองรับอีกมาก หากมีการระบาดยังสามารถสบายใจได้ วันนี้เตียงเหลือง เตียงแดง สามารถขยายและรองรับได้อีก เตียงสีเขียวที่ไม่ค่อยมีอาการ อาการเล็กน้อย เราใช้ HI เมื่อช่วงเกิดวิกฤต กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมระบบ HI ถึง 1 แสนเตียง วันนี้หากมีเคสขึ้นมาวันละเป็นพัน หรือหมื่นก็ใช้ระบบของเดิมได้ และยังถ่ายทอดระบบนี้ไปต่างจังหวัดด้วย ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์ที่บริจาคกัน เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนต่างๆ เมื่อ กทม.เคสน้อยลงก็ลำเลียงส่งไปช่วยต่างจังหวัด เช่น 4 จังหวัดชายแดนใต้ หรือภาคเหนือ เมื่อ 4 จังหวัดใต้ดีขึ้นก็ย้ายเครื่องมือไปจังหวัดอื่นได้ ถือว่าเกิดประโยชน์ได้ต่อเนื่อง” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image