กทม.ยืดเวลาจ่ายภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง 1 เดือน ชวนคนกรุงชำระก่อน 30 เม.ย.

กทม.ยืดเวลาจ่ายภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง 1 เดือน ชวนคนกรุงชำระก่อน 30 เม.ย.

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ศาลาว่าการ กทม. นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 และการคงอัตราภาษีในปี 2565-2566 ว่า ภายหลังจากผู้ว่าฯ กทม. ลงนามประกาศ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 เรื่อง กำหนดระยะเวลาทำการสำรวจที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว พนักงานสำรวจได้ทำการสำรวจที่ดิน สิ่งก่อสร้างในกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม และจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีภาษี 2565 และประกาศบัญชีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พร้อมจัดส่งข้อมูลเสียภาษีไปให้ผู้เสียภาษีเป็นที่เรียบร้อย

นายเกรียงยศ กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าบัญชีรายการที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างไม่ถูกต้อง จึงทำการแก้ไขเพิ่มเติม โดยผู้เสียภาษีตรวจหากพบว่าบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ถูกต้อง ให้ยื่นคำร้องขอแก้ไขภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ขณะเดียวกัน กทม. จะประกาศราคาประเมินคุณทรัพย์ อัตราภาษีที่จัดเก็บก่อนแจ้งการประเมินภาษี โดยผู้เสียภาษีจะต้องยื่นคำร้องคัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และ กทม.ต้องพิจารณาข้อคัดค้านภายใน 30 วัน และแจ้งผู้เสียภาษีให้ทราบ

“แต่เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กทม.จึงขยายเวลาการชำระภาษี ออกไปเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยผู้เสียภาษี จะต้องชำระภาษี ในเดือนเมษายน 2565 จากเดิมที่ต้องชำระเดือนมีนาคม เป็นงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ในเดือน พฤษภาคม และงวดที่ 3 ในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม กทม.จะมีหนังสือแจ้งเตือนภาษี ให้แก่ผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระ และมีหนังสือแจ้งรายการภาษีค้างให้สำนักงานที่ดินก่อนทำหนังสือแจ้งเตือนภาษีค้าง ก่อนดำเนินการบังคับทางปกครอง ซึ่งเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับจากที่ผู้ค้างภาษีได้รับการแจ้งเตือน กทม.จะยึด อายัติ และขายทอดตลาดทรัพย์สิน ของผู้เสียภาษีต่อไป” นายเกรียงยศ กล่าว

ทางด้านนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. กล่าวว่า กทม.ได้เร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 และการคงอัตราภาษีในปี 2565-2566 ตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับผู้เสียภาษีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 และเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการชำระภาษีในอัตราที่แท้จริง โดยในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ตั้งแต่ปี 2565-2566 ให้ใช้อัตราภาษีตามประเภทการใช้ประโยชน์และจัดเก็บภาษีตามมูลค่าที่ดินสิ่งปลูกสร้างในลักษณะขั้นบันได ได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม อัตราภาษีร้อยละ 0.01-0.1 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย อัตราภาษีร้อยละ 0.02-0.1 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น อัตราภาษีร้อยละ 0.3-0.7 และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีร้อยละ 0.3-0.7

Advertisement

“ทั้งนี้ กทม.ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการตรวจสอบข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงอัตราการจัดเก็บภาษี ตลอดจนช่องทางการแจ้งแก้ไขข้อมูลในกรณีที่พบว่าใบประเมินเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้อง โดย ข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ติดประกาศไว้ ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ พร้อมคิวอาร์โค้ดในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมีการจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีตามการใช้ประโยชน์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทต่างๆ ได้ติดประกาศไว้พร้อมกับประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ และประกาศทางเว็บไซต์ของฝ่ายรายได้แต่ละสำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ ในกรณีที่พบว่าใบประเมินเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้อง ผู้เสียภาษีสามารถยื่นคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีต่อผู้ว่าฯ กทม. ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ หรือยื่นคำร้องผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ของฝ่ายรายได้แต่ละสำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ก็ได้ ผู้ชำระภาษีสามารถชำระภาษีได้ ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ หรือธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ เครื่องเอทีเอ็ม (ATM) ของธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ บัตรเครดิต หรือบัตรกรุงไทยวีซ่าเดบิต และทำรายการชำระเงินข้ามธนาคารด้วย Barcode หรือ QR Code ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถาม หรือติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการชำระภาษีประเภทต่างๆ ได้ที่สำนักงานเขตที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่” นายขจิต กล่าว

ปลัด กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.ขอให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ทั้งที่เป็นบุคคลทั่วไปและนิติบุคคล ตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีของตน พร้อมชำระภาษีภายใน วันที่ 30 เมษายนของทุกปี ทั้งนี้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือว่ามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และภาษีที่จัดเก็บได้ กทม.จะนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญในระยะยาว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image