สธ.รุดสอบ รพ.เอกชน ถูกร้องเก็บค่าถุงมือยางนับร้อยชิ้น ย้ำ! ทุกแห่งต้องโชว์รายการ

สธ.รุดสอบ รพ.เอกชน ถูกร้องเก็บค่าถุงมือยางนับร้อยชิ้น ย้ำ! ทุกแห่งต้องโชว์รายการ

วันนี้ (9 ธันวาคม 2564) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลถึงครอบครัวหนึ่งนำผู้สูงอายุเข้าพักรักษาอาการนอนไม่หลับ สับสน กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง และเมื่อการรักษาเสร็จสิ้นได้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ประมาณ 44,000 บาท แต่เมื่อญาติได้ตรวจสอบใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล กลับพบว่ามีค่าใช้จ่ายจากถุงมือยาง และท่อดูดเสมหะนับร้อยชิ้น เกินมาเกือบ 6,000 บาท ว่า เมื่อได้รับทราบข้อมูลก็ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมาย สบส.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว โดยมุ่งตรวจสอบในประเด็นว่าทางโรงพยาบาลมีการจัดทำหลักฐานเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการเอกสารแสดงการตรวจโรคอันเป็นเท็จตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย

“พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจสอบพบว่า ในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 โรงพยาบาลรับผู้ป่วยติดเตียง อายุ 94 ปี เข้ารับการรักษาด้วยอาการนอนไม่หลับ สับสน และเหนื่อย จึงมีการเบิกเวชภัณฑ์เพื่อใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วย ถุงมือยาง 1 กล่อง (108 ชิ้น) และท่อดูดเสมหะ 1 ชุด (25 ชิ้น) และเมื่อการรักษาเสร็จสิ้น โรงพยาบาลจึงแสดงใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายให้กับญาติเพื่อตรวจสอบก่อนชำระเงิน ซึ่งญาติผู้ชำระเงินได้ทักท้วงว่ามีค่าใช้จ่ายเวชภัณฑ์จำนวนมากที่ไม่ได้ใช้จริง เกือบ 6,000 บาท โรงพยาบาลจึงมีการตรวจสอบและแจ้งกับญาติว่าเวชภัณฑ์ที่เกินมานั้น เกิดจากญาติอีกคนที่ทำหน้าที่เฝ้าผู้ป่วยมีความประสงค์จะนำเวชภัณฑ์ในส่วนที่เหลือกลับไปใช้ที่บ้าน โรงพยาบาลจึงมีการคิดค่าใช้จ่ายในส่วนของเวชภัณฑ์ที่ถูกนำกลับ แต่ญาติที่เป็นผู้ชำระเงินมิได้ประสงค์จะนำเวชภัณฑ์ดังกล่าวกลับไป จึงแจ้งคืนเวชภัณฑ์ให้ตามระบบของโรงพยาบาล ก่อนจะมีการหักค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวออกไป และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่ง สบส. และโรงพยาบาลก็ได้มีการพูดคุย ชี้แจงกับญาติผู้ป่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลนั้น มักเกิดเพราะขาดการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวผู้ป่วย หรือญาติ จึงขอกำชับให้ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ปฏิบัติตามที่กฎหมายสถานพยาบาลกำหนด โดยจะต้องมีการแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ และสิทธิของผู้ป่วยให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และจัดให้มีจุดสอบถามอัตราค่าบริการ ประการสำคัญ จะต้องเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ให้สื่อสารทำความเข้าใจในอัตราค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วย หรือญาติให้ชัดเจน มีการชี้แจงรายละเอียดอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบหลักฐานการรักษาพยาบาลในกรณีที่มีข้อสงสัย เพื่อลดความเข้าใจผิด หรือข้อเคลือบแคลงต่ออัตราค่ารักษาพยาบาล

ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากประชาชนพบเห็นสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดในเขตกรุงเทพมหานคร ไม่จัดแสดงค่าบริการให้ชัดเจน หรือเรียกเก็บค่ารักษาเกินอัตราที่แสดง สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1426 สบส.ในวันและเวลาราชการ สบส.จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้รับบริการทุกราย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image