กทม.เร่งฟื้นป่าชายเลนตามแผน ป้องแนวกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน

กทม.เร่งฟื้นป่าชายเลนตามแผน ป้องแนวกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับการปลูกป่าชายเลน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหากัดเซาะชายฝั่งและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น กทม.ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในเขตบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียนมีความยาวของชายฝั่งประมาณ 4.7 กิโลเมตร (กม.) โดยมีสภาพของชายฝั่งเป็นป่าชายเลน และมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้พื้นที่ชายฝั่งร่นเข้ามากว่า 1,000 เมตร

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า เดิมป่าชายเลนนี้เป็นเขตป่าไม้ถาวรแห่งชาติของกรมป่าไม้ มีพื้นที่กว่า 2,735 ไร่ และในปี 2532 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติจำแนกพื้นที่ป่าชายเลนในเขตบางขุนเทียนออกจากป่าไม้ถาวรแห่งชาติ และให้ กทม.ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่เพื่อป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง ปลูกสร้างสวนป่า และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดย กทม.ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ดังนี้ 1.ปี 2534-2538 สำนักงานเขตบางขุนเทียนดำเนินการก่อสร้างคันหินทิ้งชายฝั่ง และพบว่าพื้นดินเลนบริเวณชายฝั่งไม่สามารถรองรับน้ำหนักของคันหินทิ้งได้ ทำให้คันทรุดตัวจมลงไปใต้ดินเลน 2.ปี 2548-2550 สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สำนักผังเมืองในขณะนั้น) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน และมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ จากการประชุมร่วมกับประชาชนในพื้นที่จึงได้รูปแบบเป็นคันหินวางบนฐานราก แต่เนื่องจากโครงการก่อสร้างต้องใช้ระยะเวลานาน ประชาชนจึงร้องขอให้ กทม.ดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการชั่วคราว

Advertisement

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า 3.ปี 2551-2555 สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตบางขุนเทียนเริ่มดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการชั่วคราว โดยดำเนินการปักไม้ไผ่เพื่อเป็นแนวชะลอคลื่น และรณรงค์การปลูกป่าชายเลน 4.ปี 2552 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศให้โครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งทุกขนาดต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 5.ปี 2556-2561 จัดทำรายงานอีไอเอเพื่อขอก่อสร้างโครงการคันหิน เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 6.ปี 2562 ได้รับความเห็นชอบรายงานอีไอเอ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 และ 7.ปัจจุบันอยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง เมื่อโครงการและศูนย์แล้วเสร็จ กทม.จะเร่งดำเนินการฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง คืนสู่สภาพความสมดุลของระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเป็นแหล่งอาหารเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์หลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้ธรรมชาติเชิงนิเวศที่สำคัญของกรุงเทพฯต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image