ร.ร.แพทย์ร่วมตรวจสายพันธุ์โควิด หวั่นลูกผสม ชี้โอไมครอนเหมือนฟุตบอล ต้องรอครึ่งหลัง

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

ร.ร.แพทย์ร่วมตรวจสายพันธุ์โควิด หวั่นลูกผสม ชี้โอไมครอนเหมือนฟุตบอล ต้องรอครึ่งหลัง

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมฯ ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 โดยสุ่มตรวจเชื้อจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ รวมทั้งมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ส่งสิ่งส่งตรวจมาให้ถอดรหัสพันธุกรรม จนถึงขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน

“มีเพียงรายแรก ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่งตัวอย่างให้ศูนย์จีโนมฯ ถอดรหัสยืนยันผล แต่ในรายอื่นๆ กรมวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการเอง ซึ่งก็มีเครือข่ายโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ และขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ประสานโรงเรียนแพทย์ที่เป็นภาคี ร่วมกันสุ่มตรวจสายพันธุ์ให้ได้ประมาณร้อยละ 1 จากผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่ล่าสุดมีประมาณ 3,000-4,000 รายต่อวัน” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการประเมินว่า การตรวจเชื้อแบบละเอียดด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT- PCR) ยังใช้ได้ดีหรือไม่ ยา ชุดตรวจต่างๆ ยังใช้ตรวจได้ผลดีหรือไม่ รวมถึงวัคซีนใช้ได้หรือไม่ อย่างเช่นที่ แอฟริกาใต้ที่มีการสุ่มตรวจไม่ถึงร้อยละ 1 ยังพบสายพันธุ์โอไมครอน และแจ้งให้ทั่วโลกทราบ ขณะนี้ทั่วโลกก็พยายามกระตุ้นให้แต่ละประเทศช่วยกันตรวจหาสายพันธุ์เช่นกัน

“ขณะเดียวกัน ที่เรากังวลคือ ขณะนี้มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าที่ครองพื้นที่ และมีสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามา หาก 1 คน ติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ อะไรจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมจนเกิดลูกผสม หรือไฮบริด อาจจะก่อให้เกิดลักษณะเด่นพิเศษที่ไม่เหมือนโอไมครอน ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า หากมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมของเชื้อ 2 ตัว ในร่างกายคนๆ เดียว จะส่งผลต่อการแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง จึงต้องสุ่มตรวจเพื่อติดตามเฝ้าระวังต่อไป” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

Advertisement

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เคยพบเพียงการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ ทั้งเดลต้าและแอลฟาในคนเดียวกัน ที่คสัสเตอร์แคมป์คนงานที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ เคยรายงาน แต่ไฮบริด 2 สายพันธุ์ ในคนเดียวกันที่มีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมจนเกิดลูกผสมขึ้นมายังไม่เคยเกิดขึ้น และจากข้อมูลที่ผ่านมา ในต่างประเทศเคยมีการผสมแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ในคนๆเดียวระหว่างเชื้อไวรัสโคโรนาไวรัส 2019 ผสมกับไข้หวัดธรรมดา แต่ไม่พบอาการรุนแรง

“ดังนั้น การสุ่มตรวจสายพันธุ์ในจำนวนมากๆ เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อพบความผิดปกติ จะได้ควบคุม หากพบในคลัสเตอร์ใด กรมควบคุมโรคก็ต้องรีบเข้าไปบริหาร ตัดตอนไม่ให้เกิดการแพร่กระจายออกไป” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีข้อสงสัยแนวโน้มว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังติดตามการระบาดที่แอฟริกาใต้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่ยังต้องรอดูอีกสักระยะช่วง 1-2 เดือนนี้ แนวโน้มน่าจะดี

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม เหมือนการเล่นฟุตบอล ตอนนี้เราแข่งขันจบไปแล้วครึ่งแรก ซึ่งมองดูแล้วเรานำ ยิงเข้าประตูไปแล้ว 1 ลูก ความหมายคือ ระบาดแต่อาการไม่รุนแรง ทุกคนก็คาดหวังว่า ครึ่งหลังน่าจะชนะ แต่ลูกบอลขลุกขลิกอยู่หน้าประตู ยังไม่รู้ผล อะไรก็เกิดขึ้นได้” หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image