สุชาติ ปล่อยแถว จนท.ลุยตรวจสอบแรงงานต่างด้าว ลั่น พบผิด กม.จับปรับ ห้ามจ้าง 3 ปี

สุชาติ ปล่อยแถว จนท.ลุยตรวจสอบแรงงานต่างด้าว ลั่น พบผิด กม.จับปรับ ห้ามจ้าง 3 ปี

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบนโยบาย และปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว และสถานประกอบการ จำนวน 123 นาย ประกอบด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จากกรมการจัดหางาน (กกจ.) 90 นาย คณะทำงานเฉพาะกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 13 นาย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) 10 นาย และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ 10 นาย โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และตม. ร่วมพิธี

นายสุชาติ กล่าวว่า การสนับสนุนการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการร่วมกัน ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการชะลอ และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติ โดยการบังคับใช้กฎหมายต่อแรงงานข้ามชาติ นายจ้าง และสถานประกอบการ ที่จ้างแรงงานข้ามชาติทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการ จากการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน ตม. และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์

ด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ รองอธิบดี กกจ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกจ.ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 กันยายน 2564 เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้าง และแรงงานข้ามชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กำหนดระยะเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2564 โดยเจ้าหน้าที่จะทำแบบบันทึกข้อมูล และให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงานข้ามชาติ ภายใน 7 วัน หลังได้รับแบบบันทึกข้อมูลแรงงานข้ามชาติจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งปัจจุบัน พ้นระยะเวลาดำเนินการตามที่กำหนดแล้ว แต่พบว่ายังมีแรงงานข้ามชาติ ที่นายจ้าง สถานประกอบการยังไม่มาดำเนินการ 64,472 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.22 จากจำนวนที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสถานประกอบและบันทึกข้อมูลไว้ทั้งสิ้น 353,776 ราย ซึ่งทำให้กลุ่มดังกล่าวกลายเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะผิดกฎหมายทันที โดยเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการ จะเริ่มปฏิบัติงานโดยมีเป้าหมายตรวจสอบกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มแรก

Advertisement

“สำหรับนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี” รองอธิบดี กกจ. กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image