โอไมครอนโผล่ไทยอีก! พบแล้ว 9 จากผู้เข้าข่ายติดเชื้อ 14 ราย สธ.ยันยังนำเข้าจาก ตปท.

โอไมครอนโผล่ไทยอีก! พบแล้ว 9 จากผู้เข้าข่ายติดเชื้อ 14 ราย สธ.ยันยังนำเข้าจาก ตปท.

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเสวนาวิชาการออนไลน์ ประเด็น เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการรับมือไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่องค์การอนามัยโลก จัดให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน อยู่ในเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) ซึ่งการรับมือได้ดีต้องมีความเข้าใจไวรัส เพื่อเตรียมการให้ดีที่สุด ทั้งนี้ โอไมครอนเข้ามาในช่วงที่ไทยกำลังเปิดประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ภายในแนวคิดเปิดอย่างปลอดภัย ซึ่งเดิมไทยเคยจะลดการตรวจหาเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศจากวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) เป็นแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) แต่ปรากฏว่ามีโอไมครอน ไทยก็เลื่อนการใช้ ATK ออกไป แสดงให้เห็นถึงการปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2564 พบผู้เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย จากเดิมที่ยืนยัน 8 ราย จากการตรวจพบผู้เข้าข่าย 11 ราย แต่ขณะนี้ จากการตรวจยืนยันด้วยวิธี Whole genome sequencing ถอดรหัสพันธุกรรมแล้ว ยืนยันเป็น 9 ราย จากการตรวจพบผู้เข้าข่ายรวม 14 ราย 

“ทั้งนี้ เฉพาะช่วงที่เราเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา เราตรวจหาสายพันธุ์ในผู้ติดเชื้อจะสุ่มตรวจจากผู้ป่วยอาการหนักที่ชายแดน ผู้เดินทางจากต่างประเทศทุกราย เกิดคลัสเตอร์แปลกๆ และไม่รู้สาเหตุ เป็นต้น โดยตรวจสัปดาห์ละเป็นพันตัวอย่าง ยังพบสายพันธุ์เดลต้าเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ระบบการตรวจเช่นนี้ หากมีโอไมครอนเข้ามาก็จะพบ ซึ่งหากเราตะครุบ จำกัดวงได้เร็ว ก็ไม่น่ามีปัญหา เราจึงหวังว่าจะตรวจพบตอนที่เขาเข้ามาให้ตรวจเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่แอบเข้ามาอย่างที่เราเจอเดลต้า ที่เราไม่ได้เจอตอนขาเข้าแต่เจอตอนที่เข้ามาแล้ว ยังยืนยันว่าการตรวจด้วย RT-PCR ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราตรวจยีนหลายตำแหน่ง รวมถึง ATK ที่บอกได้ว่าร้อยละ 90 ยังไม่มีผลกระทบว่าตรวจได้หรือไม่ได้ เพียงแต่หากตรวจในวันแรกๆ เชื้อน้อย ตรวจผิดวิธีอาจพบผลลบลวงได้ ซึ่งนี่น่าจะเป็นปัญหามากกว่า” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวย้ำว่า ความน่าสนใจของโอไมครอน คือ ไม่ใช่ลูกหลานของเดลต้า เบต้า ที่มีมาก่อน แต่เป็นตัวใหม่จริงๆ กลายพันธุ์ใหม่ในหลายตำแหน่ง โดยบางตำแหน่งเหมือนสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมม่า ฉะนั้น จึงมีความน่ากังวลว่า 1.อาจทำให้แพร่เร็ว โดยขณะนี้พบว่าไปหลายประเทศ รวมถึงในทวีปแอฟริกาใต้ก็ติดเชื้อเพิ่มค่อนข้างเร็ว 2.อาการรุนแรง ขณะนี้ยังไม่มีข่าวร้าย ยังไม่มีข้อมูลว่าหนักกว่าเดลต้า และ 3.หลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ขณะนี้ก็มีข้อมูลมากขึ้นว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image