กทม.แจงใช้งบปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ยันทำตามขั้นตอน กม.-โปร่งใส

กทม.แจงใช้งบปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ยันทำตามขั้นตอน กม.-โปร่งใส

หลังจากที่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี เป็นรอบที่ 2 แต่ พล.ต.อ.อัศวิน ไม่ได้ไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวด้วยตนเองแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ศาลาว่าการ กทม. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. พร้อมด้วย น.ส.กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก นายไทวุธ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง นายสมชาย เตชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางแผนและพัฒนาเมือง นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และ นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ร่วมแถลงชี้แจงกรณีการดำเนินโครงการปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวถึงการใช้งบประมาณก่อสร้างในโครงการปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ว่า งบประมาณระยะที่ 3 (เฟส 3) ที่เพิ่งสรุปราคากลางทั้งสิ้น 370 ล้านบาท แบ่งเป็น งบด้านโครงสร้าง 182 ล้านบาท ส่วนงบไฟฟ้า และการตกแต่ง ประมาณ 188 ล้านบาท ขณะที่งบบำรุงในโครงการปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี มีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ งบทำความสะอาดโดยสำนักงานเขต งบปลูกต้นไม้ และงบระบายน้ำ เป็นค่าใช้จ่ายที่มีอยู่แล้ว ทำอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจัดสรรเพิ่ม

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการจัดซื้อจัดจ้างระยะที่ 2 มีผู้ร่วมประมูลหลายบริษัท แต่มีผู้ที่เสนอราคาประมูลอยู่บริษัทเดียว และประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 700,000 บาท จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทเอกชนนี้ เคยเป็นคู่สัญญากับ กทม.ในระยะเวลา 20 ปี ร่วม 2,300 ล้านบาท จะเป็นการเอื้อประโยชน์กับเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ นายไทวุธ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เพราะมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว ทุกคนมีสิทธิซื้อ ทุกคนมีสิทธิประมูล

“ถึงวันมีผู้จะประมูล 5 ราย แต่มีผู้เสนอราคามารายเดียว ย้ำว่า การคำนวณราคากลางปฏิบัติตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง” นายไทวุธ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีการเลือกภูมิสถาปนิกที่ออกแบบโครงการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จึงมีข้อสังเกตว่าเหตุใดถึงต้องมารับทำโครงการนี้แบบฟรีๆ น.ส.กชกร กล่าวว่า ตนช่วยงาน กทม. มากว่า 10 ปี ไม่คิดว่าค่าตอบแทนจะเป็นสิ่งที่จะทำให้ตนทำงานอยู่ตรงนี้ ไม่ต้องจ่ายเงินก็ได้ เพราะเรียนการออกแบบเมืองและสิ่งแวดล้อมมา

“เพียงแค่อยากให้โลกรู้จักวิชาชีพภูมิสถาปนิกที่เป็นวิชาชีพใหม่ ทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่แค่คนจัดสวน” น.ส.กชกร กล่าว

ต่อข้อถามถึงแนวทางการระบายน้ำ และการส่งต่อน้ำเสียในโครงการ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คลองช่องนนทรียังคงเป็นแก้มลิง โดยด้านล่างจะเป็นสถานีสูบน้ำช่องนนทรี มีกำลังสูบ 30 ลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.)ต่อ วินาที และได้ขุดลอกคลองช่องนนทรีจากเดิม 2 เมตร เป็น 3.50 เมตร ทำให้คลองช่องนนทรีเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำได้มากขึ้น

“ในส่วนของสถานีบำบัดน้ำเสีย จะรับน้ำเสียจากยานนาวา บางรัก และบางคอแหลม สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 200,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งคลองช่องนนทรีจะมีท่อรวบรวมน้ำเสียอยู่ใต้คลอง และมีบ่อรับน้ำเสียอยู่ 2 ฝั่งถนน เพื่อไม่ให้น้ำเสียลงคลองช่องนนทรี โดยน้ำที่จะบำบัดที่โรงบำบัดน้ำเสียช่องนนทรี ต้องมีค่าคุณภาพน้ำ หรือ ดีโอมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่โรงบำบัดนี้สามารถบำบัดได้ 6-8 มิลลิกรัม/ลิตร และมีกำลังบำบัดอยู่ที่ 140,000 ลบ.ม./วัน” นายสมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามต่อถึงกรณีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา ที่อาจจะมีการทับซ้อนกับโครงการคลองช่องนนทรี นายประพาส กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา จะใช้พื้นที่การเดินรถบีอาร์ที (BRT) เดิม ซึ่งจะไม่มีการรื้อสวนนี้ ส่วนที่หลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดไม่รอให้รถไฟฟ้าสายสีเทาสร้างเสร็จก่อน แล้วจึงค่อยปรับสวนสาธารณะ เพราะจะมีปัญหาเรื่องค่าเสียโอกาส เกี่ยวกับการพัฒนาผังเมืองและการระบายน้ำ โดยปัจจุบันการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทาอยู่ระหว่างการจ้างจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการชี้แจงดังกล่าว ได้มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรับฟังด้วย แต่เจ้าหน้าที่ กทม.ได้มีการเชิญให้ออกจากห้องประชุม เนื่องจากไม่อนุญาตให้ตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วม และผู้ที่จะเข้าร่วมฟังคำชี้แจงจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้า

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image