ลูกจ้างเดอะวันประกันภัยฯ แห่ขอชดเชยกว่า 300 ราย รมว.สุชาติ สั่งจัดฟูล ออปชั่น

ลูกจ้างเดอะวันประกันภัยฯ แห่ขอชดเชยกว่า 300 ราย รมว.สุชาติ สั่งจัดฟูล ออปชั่น

วันนี้ (20 ธ.ค.64) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้บริษัทบอกเลิกสัญญาจ้างลูกจ้างทั้งหมด 396 คน จาก 19 สาขาทั่วประเทศ เรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลภารกิจกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยลูกจ้างบริษัทดังกล่าว และติดตามสอบถามความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานร่วมบูรณาการให้บริการช่วยเหลือลูกจ้าง

โดยในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้นัดลูกจ้างมาที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ภายในบริเวณกระทรวงแรงงาน ให้บริการรับคำร้องตามแบบ คร.7 เรื่องค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชี้แจงลูกจ้างกรณีสิทธิประโยชน์กรณีเลิกจ้างประชาสัมพันธ์ให้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 ขึ้นทะเบียนรับสมัครงาน ขึ้นทะเบียนกรณีว่างงาน ประกาศตำแหน่งงานว่าง และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สถาบันพื้นที่ 13 ให้คำปรึกษาสำหรับบุคคลที่สนใจเข้ารับการอบรมฝึกอาชีพด้วย

“โดยในช่วงเช้ามีลูกจ้างเข้ารับบริการราว 300 คน สำหรับลูกจ้างของบริษัทฯ ที่อยู่ประจำสาขาในจังหวัดต่างๆ ได้แจ้งให้ไปยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และในช่วงบ่ายได้เชิญนายจ้างมาพบเพื่อตรวจสอบแนวทางการดำเนินการของนายจ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ หากนายจ้างไม่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างให้กับลูกจ้างได้ ลูกจ้างมีสิทธิยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้” นายสุชาติ กล่าว

Advertisement

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับตัวแทนลูกจ้าง ได้ข้อสรุปว่าลูกจ้างจะเขียนคำร้องตามแบบ คร.7 เรื่องค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี เพื่อคำนวณจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างและจะได้พูดคุยกับนายจ้างว่าสามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างได้หรือไม่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติ พนักงานตรวจแรงงานจะออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติ ซึ่งถึงขั้นตอนนี้ลูกจ้างสามารถยื่นขอใช้สิทธิรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้ และใช้สิทธิรับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยปีละไม่เกิน 180 วัน ควบคู่กันไป โดยกรมจะดำเนินการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญากับนายจ้างต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image