สบส.-ดีเอสไอ ยกร่าง กม.อุ้มบุญ อัพเป็นคดีพิเศษ ขจัดปมรับจ้างตั้งครรภ์

สบส.-ดีเอสไอ ยกร่าง กม.อุ้มบุญ อัพเป็นคดีพิเศษ ขจัดปมรับจ้างตั้งครรภ์

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลัง พร้อมด้วย ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. ประชุมทางไกลหารือกรณีการกระทำที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ร่วมกับ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department of Special Investigation: DSI) หรือ ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า นับตั้งแต่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 สบส. และดีเอสไอได้มีการดำเนินคดีกับหญิงไทย และขบวนการรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) มาอย่างต่อเนื่อง

“และด้วยคดีดังกล่าวมักเป็นคดีที่มีความซับซ้อนทั้งในการสืบหาผู้ร่วมขบวนการ เอเยนซี่ (Agency) หรือเส้นทางการเงินของขบวนการรับจ้างอุ้มบุญที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กเกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ฯ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ สบส. และดีเอสไอ จึงวางแผนบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้ สบส.ได้มีการดำเนินการในคดีที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ ร่วมกันดีเอสไออยู่ จำนวน 38 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ร้องเรียนเกี่ยวกับอุ้มบุญ 31 เรื่อง 2.การโฆษณา 4 เรื่อง และ3.ร้องเรียนอื่นๆ 3 เรื่อง” นพ.ธเรศ กล่าว

ด้าน นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมาย ภายในเดือนมกราคม 2565 ดีเอสไอจะพิจารณายกระดับให้คดีอุ้มบุญเป็นคดีพิเศษ โดยจะมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมอาชญากรรมข้ามชาติ และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาดำเนินการกับผู้กระทำผิด ซึ่งการที่ 2 หน่วยงาน ตั้งเป้าในการบูรณาการความร่วมมือกัน จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเข้มข้น เกิดการป้องปราม และสามารถนำตัวผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศมาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

ทั้งนี้ ข้อมูลในเบื้องต้น สบส.และ ดีเอสไอได้มีการวางแผนการดำเนินการร่วมกันในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 อยู่ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การลงนามหนังสือบันทึกข้อตกลงระหว่างองค์กร (เอ็มโอยู) ร่วมกัน เพื่อการดำเนินงานในลักษณะคู่ขนานอย่างยั่งยืน 2.การจัดทีมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันระหว่างหน่วยงาน 3.การจัดอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน และ 4.การยกร่างกฎหมายให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองประชาชนต่อไป โดยคาดว่าตั้งแต่ปี 2565 ปัญหาและเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบอุ้มบุญภายในประเทศจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image