พม.เปิด 3 ของขวัญปีใหม่ เน้นสร้างอาชีพให้กลุ่มเปราะบาง พึ่งพาตัวเองได้ ตอบโจทย์โลกเปลี่ยนหลังโควิด

พม.เปิด 3 ของขวัญปีใหม่ เน้นสร้างอาชีพให้กลุ่มเปราะบาง พึ่งพาตัวเองได้ ตอบโจทย์โลกเปลี่ยนหลังโควิด

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการแถลงข่าวของขวัญปีใหม่ กระทรวง พม. สำหรับประชาชน ปี 2565 โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ร่วมแถลงข่าว ว่า ของขวัญปีใหม่ พม.ปี 2565 มาจากคิดนอกกรอบคือ การสร้างอาชีพหลังโควิด-19 เราจะต้องพลิกโฉมประเทศไทย คนที่ฟื้นจากโควิดจะต้องมีรายได้ มีอาชีพที่ยั่งยืน ให้ประเทศและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากนี้โลกจะเปลี่ยนไปในเรื่องของการงาน อาชีพ และเทคโนโลยี ดังนั้นเราจึงต้องสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับประชาชนทุกช่วงวัย สามารถมีอาชีพที่ช่วยเหลือตัวเองได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นผู้บริหาร พม.นำโดย นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. รวมถึงอธิบดี 5 กรม ตลอดจนผู้บริหารองค์กรในกำกับของ พม.เป็นผู้กล่าวนำเสนอรายละเอียดของขวัญ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างอาชีพใหม่หลังโควิด ซึ่งมีเป้าหมายจะส่งเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมายของ พม. เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คนพิการ คนด้อยโอกาส ตลอดจนกลุ่มเปราะบางต่างๆ ให้มีอาชีพ จำนวน 34,362 คน ในปี 2565 ด้วยอาชีพใหม่ๆ เช่น เชฟอาหารไทย ช่างผมที่จะส่งเสริมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทรงผม ช่างสปากระเป๋าลักซูรี่ ช่างชุมชนในโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน (พอช.) บัตเลอร์ แคร์กิฟเวอร์ดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ นักประเมินทรัพย์สินมืออาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถพึ่งพาตัวเอง และสามารถดูแลครอบครัวได้ต่อไป

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม.
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม.

2.รอยยิ้มในครอบครัวอบอุ่น (Little Big Smile) ช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากโควิด-19 จำนวน 441 คน ด้วยการคุ้มครองและช่วยเหลือรายบุคคล อีกทั้งมีการจัดบริการสุขภาพจิต การสนับสนุนทุนการศึกษา การจัดหาผู้ดูแลเด็กและการสนับสนุนครอบครัวด้านสวัสดิการสังคม ตลอดจนเสริมทักษะให้แก่เครือญาติหรือผู้ใกล้ชิด ในการดูแลเด็กที่สูญเสียคนในครอบครัว

และ 3.การเพิ่มช่องทางรับแจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย แจ้งปัญหาสังคม และการขอรับบริการของกระทรวง พม. จากเดิมมีเพียงสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ล่าสุดมีเว็บไซต์ ไลน์โอเอ (@Hotline1300) ซึ่งรวบรวมสิทธิ สวัสดิการ และบริการของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาทางสังคมเข้าถึงบริการของกระทรวง พม. และได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

Advertisement

ทั้งนี้ ภายหลังงานแถลงข่าว นายจุติ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อซักถามของขวัญปีใหม่ 2565 มีความเป็นไปได้หรือไม่ จะมีเรื่องของเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจัดสรรแบบถ้วนหน้า เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ว่า ในส่วนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้ พม. และกระทรวงการคลังไปดู ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาถึงความเหมาะสม แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ การพึ่งพาตัวเองให้ได้ การมีทักษะเพิ่มเติม อยากจะเน้นว่าในโลกใบใหม่หลังโควิด-19 ความรู้และทักษะด้านเดียวไม่พออีกแล้ว แต่ต้องมี 2 มี 3 เพื่อสามารถเปลี่ยนอาชีพได้สะดวก มีรายได้ที่ยั่งยืน ฉะนั้น พม.จึงทำเรื่องการสร้างศักยภาพคน ซึ่งเป็นการทำงานที่ก้าวกระโดด สู้กับปัญหาให้ได้ ตอบโจทย์ประเทศ

ผู้บริหาร พม.
นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน
นายประสงค์ พันธ์ลิมา ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์
นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image