‘สธ.’ เปิด 3 ฉากทัศน์โควิด ไม่ร่วมมือ หลังปีใหม่เจอโอมิครอน 3 หมื่น ตาย 180 ราย

“สธ.” เปิด 3 ฉากทัศน์โควิด ไม่ร่วมมือ หลังปีใหม่เจอโอมิครอน 3 หมื่น ตาย 180 ราย

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.แถลงฉากทัศน์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน ว่า การระบาดของโอมิ ครอน ทางกรมควบคุมโรค จัดทำฉากทัศน์ขึ้นมา ซึ่งเราต้องพยายามป้องกันการติดเชื้อให้มาก ไม่ให้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วเกินไปนัก เพราะหากแพร่ระบาดและมีคนป่วยมากๆ จะกระทบต่อระบบการดูแลของสาธารณสุข ทั้งนี้ หากเราสามารถพยากรณ์ว่าหากความสามารถของโอมิครอนมากขึ้น แต่ฉีดวัคซีนพื้นฐานได้มากขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร โดยมี 3 ฉากทัศน์ คือ

แบบที่ 1 ฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เป็น (Least favorable) กรณีการระบาดโอมิครอนในประเทศอัตราเพิ่มขึ้น ฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 คือสัปดาห์ละ 3 ล้านโดส แต่ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย หรือไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการป้องกัน ไม่มีมาตรการอะไรมาก ก็จะอยู่สถานการณ์รุนแรง ทำให้มีปัญหาการควบคุมโรคอย่างมาก ใช้เวลา 3-4 เดือนในการควบคุม อาจมีการติดเชื้อรายวัน อาจถึง 30,000 ราย เสียชีวิตสูง 170-180 คนต่อวัน

แบบที่ 2 ฉากทัศน์แบบปานกลาง (Possible) ตัวเลขผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นรายต่อวัน และค่อยๆ ทรงตัว และค่อยๆ ลดลงในที่สุด ผู้เสียชีวิตวันละ 80-100 ราย

Advertisement

แบบที่ 3 ฉากทัศน์แบบดีที่สุด (most favorable) ผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่หมื่นรายนิดๆ และสามารถควบคุมโรคได้เร็วประมาณ 1-2 เดือน ตัวเลขก็จะลดลงมา ผู้เสียชีวิตวันละ 60-70 ราย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เราพยายามควบคุม ซึ่งแต่ละฉากทัศน์เราคำนึงความสามารถการแพร่กระจายของโรค การฉีดวัคซีน โดยแบบที่ 3 ต้องมีมาตรการค่อนข้างมาก เร่งฉีดวัคซีนทุกกลุ่มได้สูงขึ้นทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และบูสเตอร์ ฉีดมากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์ แต่ทั้งหมดเราก็พยายามดูให้สมดุลกับการดำเนินชีวิต

“ขณะนี้ เรามาถึงสถานการณ์จริงตามกราฟเส้นสีน้ำเงิน ซึ่งถือว่า ไทยทำได้ดี แต่ปัจจุบันเรามาถึงทางแยก เพราะมีการระบาดของโอมิครอน ซึ่งหากเราไม่มีมาตรการ ไม่ทำอะไรเลย จะเข้ากับเส้นกราฟสีเทา คือ มีการระบาด ควบคุมได้ยาก แต่หากเราควบคุมได้ดีตามเส้นสีเขียว ตามที่ สธ.อยากให้เป็น จึงต้องร่วมมือกันอีกครั้ง เพราะไม่อยากล็อกดาวน์ประเทศ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ปลัด สธ. กล่าวว่า สำหรับอัตราการใช้เตียงของประเทศ เรามีเตียง 1.7 แสนเตียง จากที่เคยขยายถึง 2 แสนเตียง แต่ปัจจุบันเคสไม่มากจึงเหลือ 1.7 แสนเตียง โดยปัจจุบันเตียงสีแดงเรียกว่า ระดับ 3 เราใช้อยู่ 31.6% มีประมาณ 5 พันเตียง ส่วนเตียงระดับ 2 ใช้ประมาณ 25.6% ส่วนเตียงสีเขียวมีมากกว่า 1.1 แสนเตียง ตอนนี้ใช้ประมาณ 6.4% ซึ่งเราสามารถเพิ่มได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนเรื่องยาเรามียาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณ 15 ล้านกว่าเม็ด ซึ่งประมาณการณ์ใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน หากมีสถานการณ์ที่ต้องการยา เรามีการสำรองและองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตได้

“สรุปสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และประเทศแถบยุโรป เกิดจากโอมิครอน ส่วนไทยเรายังควบคุมผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างดี แต่ขณะนี้เริ่มมากขึ้นในไทย เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่อาจพบติดเชื้อ และเสียชีวิต แต่อาการส่วนใหญ่ยังไม่รุนแรง ไม่ป่วยหนัก แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวป้องกันโรค และขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 3 เพราะลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ รวมทั้งขอให้มีการตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีฉากทัศน์ไทยที่หากไม่ทำอะไรจะมีผู้ป่วยสูง 3-4 หมื่นราย ขณะที่อังกฤษเป็นแสนราย เพราะอะไรถึงแตกต่างถึง 3 เท่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การประเมินฉากทัศน์นั้น เราจะมีข้อมูลใส่ไปในระบบและประเมินออกมาเป็นเส้นๆ ซึ่งดูหลายๆข้อมูล สิ่งที่ไทยและอังกฤษเหมือนกันคือประมาณ 60-70 ล้านคน และเปอร์เซ็นต์ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ก็คล้ายกัน แต่สิ่งที่เราดีกว่าคือความร่วมมือของประชาชน โดยเริ่มมาฉีดวัคซีนมาก โดยเฉพาะเข็มที่ 3 เพราะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวัคซีนยี่ห้อไหน เมื่อผ่านไป 3 เดือนภูมิฯเริ่มตก ดังนั้น สิ่งที่เราต่างกันคือ การเร่งฉีดเข็ม 3

“ประกอบกับการป้องกันของประชาชน(Universal Prevention) จะเห็นว่าเมื่อไปสถานที่สาธารณะ หาคนไทยไม่ใส่หน้ากากอนามัยค่อนข้างยากมาก แต่อังกฤษเมื่อไปดูบอลที่สนามบอล แทบไม่สวมหน้ากากอนามัยเลย แต่ในเรื่อง Covid free setting ค่อนข้างเข้มข้นทั้งคู่ ขณะที่การตรวจชุดตรวจด้วย ATK เราตรวจค่อนข้างมาก พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคเข้มข้นกว่าหลายๆ ประเทศที่ผ่านมา” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image