หมอยงยันบูสต์วัคซีนโควิด mRNA ภูมิขึ้น 200 เท่า ชี้โอมิครอนแพร่เร็ว ก๊ง 10 คน ติดยกวง

หมอยงยันบูสต์วัคซีนโควิด mRNA ภูมิขึ้น 200 เท่า ชี้โอมิครอนแพร่เร็ว ก๊ง 10 คน ติดยกวง

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในช่วงหนึ่งของการเผยแพร่ความรู้ผ่าน Webinar LIVE COVID-19 Vaccine Quarterly Outlook จัดโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ว่าทั่วโลกพบสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรวม 4 ระลอกแล้ว ปี 2564 พบทั้งสายพันธุ์จี, อัลฟ่า, เดลต้า และสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด โอมิครอน จากรายงานจีเสส (GISAID) พบว่า จำนวนรหัสพันธุกรรมโอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื่อว่าไม่เกิน 1-2 เดือน จะเข้ามาแทนที่เดลต้าแน่นอนเพราะติดต่อได้ง่ายกว่า

“เดิมโอมิครอนมีจุดกำเนิดที่แอฟริกา แต่ตอนนี้กระจายไปครึ่งโลก เนื่องจากยุโรปและอเมริกาเป็นแหล่งกระจายโรคได้ดี โดยที่ศูนย์เชี่ยวชาญฯ ตรวจวินิจฉัยจากตัวอย่างที่ถูกส่งตรวจ 96 คน พบเป็นโอมิครอน 40-50 คน แสดงว่าเชื้อแพร่ได้รวดเร็ว ซึ่งการระบาดในระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 แทบแยกจากกันไม่ออก แต่เชื่อว่าหลังปีใหม่ 2565 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดในระลอกที่ 5 ขึ้นแน่หากเราไม่ช่วยกัน” ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์เชี่ยวชาญฯ เตรียมถ่ายวิธีการตรวจให้กับสถานพยาบาลอื่น เพื่อการตรวจหาเชื้อโอมิครอนใช้การถอดรหัสพันธุกรรม ด้วยเทคนิคการตรวจที่รวดเร็วภายใน 4 ชั่วโมง (ชม.) ทั้งนี้ สาเหตุที่โอมิครอนหลุดออกจากระบบไม่กักตัว (Test & Go) มากกว่าระบบอื่น เช่น กรณีสามีชาวฝรั่งเศสและภรรยาที่เป็นช่างเสริมสวยเดินทางเข้าประเทศไทย ตรวจต้นทาง RT-PCR ไม่พบ ตรวจเมื่อเข้าประเทศไทยซ้ำใน 24 ชม. ก็ไม่พบ หลังไม่พบไปจิบไวน์กับเพื่อนที่บาร์ 11 คน จากนั้นไม่นานมี 1 คน ไม่สบายนอนโรงพยาบาล (รพ.) ตรวจพบเชื้อโอมิครอน สันนิษฐานติดจากสามีภรรยา และจากนั้นเพื่อนทั้งหมดก็ติดโอมิครอน

Advertisement

“เชื่อว่าสามีภรรยานี้ติดเชื้อมาจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับเคสครอบครัวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ลูกสาวติดโอมิครอนแล้วกักตัว แต่พ่อแม่และน้องชายไม่ติด จึงไม่กักตัว แต่อีก 2-3 วันก็ติด ซึ่งในช่วงเวลานั้นทั้ง 3 คนก็ไปทำกิจกรรมอื่น ก็เท่ากับมีการแพร่เชื้อในสังคม จะเห็นว่าขบวนการ T&G ไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้เลย ส่วนเคสข้าราชการระดับสูงมีไปประชุมร่วมหลายที่ ป่วยนอนแอดมิตที่ รพ.เอกชน ตรวจพบเชื้อโอมิครอน ลองนึกภาพว่าการทำงานต้องเดินทางไปไหนเยอะแยะ ติดต่อผู้คนมากมาย แสดงให้เห็นว่าเชื้อติดง่ายมาก จากสายพันธุ์อู่ฮั่น 10 คน กินเหล้าร่วมกันติด 2-3 คน มาเป็นสายพันธุ์เดลต้า 10 คน ติดเชื้อ 6-7 คน และโอมิครอน 10 คน ติดทั้ง 10 คน และเชื้อโอมิครอนหลบภูมิคุ้มกันได้ คนที่ติดส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม แต่ไม่ว่าจะยี่ห้อไหน ชนิดไหน อัตราการรักษาใน รพ.ต่ำกว่าเดลต้า แสดงว่ารุนแรงน้อยกว่า แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดว่าที่โรคมีความรุนแรงน้อยลงเพราะเชื้อ หรือเพราะคนรับวัคซีน แต่ที่แน่นอนเชื้อไวรัสโอมิครอนชอบเยื่อบุคอมากกว่าปอด” ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้วัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 โดยไม่ต้องรอให้ครบ 6 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะสูงใน 3 เดือนแรก และจากนั้นเดือนที่ 5 ภูมิคุ้มกันในเดือนที่ 4-5 ก็จะเริ่มลดลง อีกทั้งเป็นช่วงรอยต่อของเชื้อโอมิครอนที่แพร่เร็ว และหากรอนานไว้ แม้ภูมิคุ้นกันสูง และก็เสี่ยงติดเชื้อ จึงต้องร่นระยะเวลาการรับวัคซีนให้เร็วขึ้นเป็น 3 เดือนขึ้นไป โดยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในกลุ่มวัคซีนเชื้อตายพบว่าภูมิขึ้น 10 เท่า แต่ถ้าเป็นไวรัสเวกเตอร์ภูมิขึ้น 100 เท่า และหากเป็น mRNA ภูมิคุ้มกันจะขึ้น 200 เท่า

“ทั้งไวรัสเวกเตอร์ และ mRNA ให้ภูมิสูงต่อสู้โอมิครอนได้ แต่ภูมิที่ขึ้นเร็ว ก็ลงเร็ว เป็นธรรมดา โดยการศึกษาพบว่าใน mRNA ไม่ว่าจะรับครึ่งโดส หรือเต็มโดสภูมิขึ้นและต้องลงเป็นเรื่องปกติร่างกาย ไม่มีความแตกต่าง ขณะนี้ทางศูนย์กำลังวิจัยเรื่องวัคซีนเข็มที่ 3 ทุกชนิดต่อเชื้อโอมิครอน” ศ.นพ.ยงกล่าว และว่า จากการศึกษาการฉีดเชื้อตาย เข็มที่ 1 แล้วตามด้วย mRNA สูตรไขว้ ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ในผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป 60 คน พบว่าภูมิคุ้มกันเท่ากับการรับไฟเซอร์ 2 เข็ม ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กที่จะต้องรับ mRNA 2 เข็ม หากรับสูตรไขว้ด้วยเชื้อตาย ตามด้วย mRNA เชื่อว่าจะลดอาการข้างเคียง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

Advertisement

ทั้งนี้ ศ.นพ.ยงกล่าวว่า การตัดสินใจรับวัคซีนเป็นดุลพินิจของผู้ปกครอง ไม่สามารถบอกว่าได้อะไรดีกว่ากัน

“ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก 5-11 ปี แม้มีความปลอดภัยแต่จำนวนโดสที่ให้เด็กต้องแตกต่างกับผู้ใหญ่ ในสัดส่วน 1 ใน 3 เพราะช่วงตัดอายุเด็กกับผู้ใหญ่มีความใกล้เคียงกันที่ 11 ปี กับ 12 ปี มีความใกล้เคียงกัน ส่วนวัคซีนเข็มที่ 4 ที่พบว่าบางคนไปรับการฉีดใกล้เคียงกับเข็มที่ 3 พบว่าให้ภูมิไม่แตกต่างกัน เพราะภูมิที่ขึ้นสูง ก็ลงเร็ว โดยเข็มที่ 4 ควรพิจารณาให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อน และจนถึงขณะนี้ทั่วโลกก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อโอมิครอนโดยเฉพาะ” ศ.นพ.ยงกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image