โพลชี้สวดมนต์ข้ามปี-แก้ชง ส่อแพร่โอมิครอน กรมอนามัยงดใช้ของร่วม แจ้งเบาะแสสถานที่เสี่ยง

โพลชี้สวดมนต์ข้ามปี-แก้ชง ส่อแพร่โอมิครอน กรมอนามัยงดใช้ของร่วม แจ้งเบาะแสสถานที่เสี่ยง

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ช่วงเทศกาลปีใหม่ ว่า เชื่อว่าเทศกาลปีใหม่ 2565 มีประชาชนเดินทางไปทำหลายกิจกรรม ทั้งท่องเที่ยว ทำบุญไหว้พระ โดยจากการสำรวจของอนามัยโพล จำนวน 7,383 คน เกี่ยวกับพฤติกรรมป้องกันโควิด-19 เมื่อเดินทางไปสถานที่ต่างๆ พบว่า ทำได้ในการป้องกันตนเอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ร้อยละ 80 สะท้อนถึงการตื่นตัวในการเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เมื่อมองลึกไปในพฤติกรรมประชาชนสวมหน้ากากตลอดเวลา ร้อยละ 97 ล้างมือ ร้อยละ 93 วัดไข้ ร้อยละ 91 และเว้นระยะห่าง ร้อยละ 84 ส่วนกิจกรรมที่ประชาชนกังวลว่าจะเกิดการระบาด ได้แก่กังวลการระบาดจากสวดมนต์ข้ามปี ร้อยละ 25 และ จากการทำบุญตักบาตร ร้อยละ 21 ดังนั้น ต้องคุมเข้มความปลอดภัยและสถานที่ทางศาสนา ต้องเข้มมาตรการย้ำเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยให้รัดกุม และสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้นได้ ทั้งด้านในเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ด้านนอกเป็นหน้ากากผ้า

“ขณะเดียวกัน การสำรวจสถานศาสนาส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย Thai Stop Covid -19 Plus แต่ยังห่วงจุดแพร่เชื้อมาจากหนังสือสวดมนต์ เบาะรองนั่ง เพราะใช้ร่วมกัน จึงเน้นย้ำให้ทำความสะอาดให้ดี เช่นเดียวกับกิจกรรมแก้ปีชง ก็น่าห่วงไม่แพ้กัน ต้องทำมาตรการ covid free setting ให้ดี เพราะมีของใช้ ร่วมกันทั้งปากกา กระดาษที่เขียน ดังนั้นวัด ศาลเจ้า มัสยิดต้องทำมาตรการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ดี มีอากาศถ่ายเท มีตรวจวัดไข้ สำรองหน้ากากอนามัยไว้บริเวณ จัดจุดปฐมพยาบาลให้ดี” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลกรณีร้านอาหาร สถานประกอบการหลายแห่งไม่ปฏิบัติตาม Covid-19 Free Setting จะสามารถแจ้งร้องเรียนดำเนินการตามกฎหมายได้หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือร้องเรียน ประชาชนแจ้งได้ 2-3 ช่องทาง คือ 1.แจ้งต่อผู้กำกับดูแลในส่วนของสถานที่ได้โดยตรง และ 2. แจ้งผ่านทางสแกนคิวอาร์โค้ด เพราะไม่ว่าจะเป็นสถานที่ต่างๆ หรือร้านอาหาร ผู้ประกอบการ ที่มีการประเมินที่เรียกว่า COVID-19 free Setting จะมีสัญลักษณ์รับรอง และเมื่อสแกนเข้าไป ก็แจ้งข้อมูลหรือเบาะแสมาทางช่องทางนี้ได้ โดยข้อมูลเหล่านั้นจะส่งตรงมาที่กรมอนามัย และเราจะส่งไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป รวมถึงช่องทางเฟซบุ๊ก “ผู้พิทักษ์อนามัย” Covid Watch เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเหตุการณ์สามารถแจ้งเข้ามาได้ ซึ่งกรมอนามัยจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบทุกวัน

“สำหรับโทษต้องพิจารณาว่า หากเป็นคำสั่งที่ทางจังหวัด ในส่วนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นชอบ ออกเป็นคำสั่ง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนใดๆก็ตาม ต้องขึ้นกับว่า การฝ่าฝืนมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากไม่มาก ส่วนใหญ่เราก็จะเตือน ให้แก้ไขหรือปรับปรุง แต่หากยังฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามและมีความเสี่ยงมาก ผิดกฎหมายโดยตรง ก็สามารถพิจารณาบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมต่อไป ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image