กรมสุขภาพจิตชี้ ธ.ค.64 คนไทยเครียดน้อยลง ชวนเข้าใจภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงว่า จากการสำรวจในกิจกรรม “วัดใจ” ในระบบ Mental Health Check In โดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ประชาชนมีความเครียดสูง ร้อยละ 5.24 และมีความเสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 6.72 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ที่ประชาชนมีความเครียดสูง ร้อยละ 8.41 และมีความเสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 10.60 แต่สถิติดังกล่าวของเดือนธันวาคมยังไม่รวมช่วงวันหยุดยาวขึ้นปีใหม่ ซึ่งในเทศกาลปีใหม่นั้นเป็นช่วงที่กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญและเฝ้าระวังด้านสุขภาพจิตของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่นี้แม้คนส่วนใหญ่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่เทศกาลรื่นเริง แต่คนจำนวนหนึ่งจะเริ่มทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลอดปีที่ผ่านมา หรือได้รับฟังข่าวสารที่มีการสรุปเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา และเกิดความผิดหวัง กังวล หรือซึมเศร้าขึ้นได้
“ด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 ช่วงปีที่ผ่านมาอาจทำให้หลายคนเกิดความเครียดเรื้อรังสะสม มีอุปสรรคปัญหาด้านต่างๆ เกิดขึ้น และปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น หลายคนไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ตามสิ่งที่ตนเองเคยคาดหวังและวางแผนไว้ ก่อให้เกิดความรู้สึกล้มเหลว ความทรงจำด้านลบ การสูญเสีย และความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเอง นอกจากนั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิมอาจจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มยิ่งขึ้นได้ในช่วงนี้ เช่น คนที่มีภาวะซึมเศร้าอยู่เดิมอาจมีอาการเศร้ารุนแรงมากขึ้น และช่วงวันหยุดเทศกาลไม่สามารถสร้างความสุขให้ได้” พญ.อัมพรกล่าว
พญ.อัมพรกล่าวว่า ภาวะ “New Year’s Blues” หรือภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่ แม้ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยทางจิตเวช แต่เป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้ที่กำลังประสบภาวะนี้ในช่วงหยุดยาววันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้จะมีอาการ ได้แก่ ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ รู้สึกไร้ค่า รู้สึกสิ้นหวัง ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง มีปัญหาเรื่องการกิน หรือการนอน ในบางรายอาจมีความคิดไม่อยากอยู่ หรืออยากทำร้ายตัวเองได้ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้อาจเกิดต่อเนื่องไปยังช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 แม้สิ้นสุดวันหยุดยาวไปแล้วก็ตาม
“กรมสุขภาพจิตอยากให้คนไทยทุกคนช่วยกันป้องกันตนเองและคนใกล้ชิดไม่ให้เข้าสู่ภาวะ New Year’s Blues ประเมินตัวเองผ่าน www.วัดใจ.com และมีการมองเห็นคุณค่าของตนและสิ่งดีๆ ที่ตนเองได้ทำไว้ในช่วงที่ผ่านมา เช่น การมองหาสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ พลังใจที่เกิดขึ้นในตนเอง การไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แบ่งปัน และช่วยเหลือผู้อื่นในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ควรใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัวหรือคนสนิท หากไม่สามารถเดินทางไปพบคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงได้ก็สามารถเรียนรู้วิธีใช้ช่องทางออนไลน์ได้” พญ.อัมพรกล่าว และว่า ทั้งนี้ หากรู้สึกว่าตนเองอาจมีภาวะ New Year’s Blues สามารถเริ่มปรึกษาพูดคุยกับใครสักคน เช่น คนใกล้ชิดหรือสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้นสามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ LINE@1323forthai หรือปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป