เปิดงานพัฒนาสังคมปี 2565 เน้นสร้างอาชีพ ปชช.พึ่งตัวเองได้ ขจัดความยากจน

เปิดงานพัฒนาสังคมปี 2565 เน้นสร้างอาชีพ ปชช.พึ่งตัวเองได้ ขจัดความยากจน

เปิดงานพัฒนาสังคมปี 2565 เน้นสร้างอาชีพ ปชช.พึ่งตัวเองได้ ขจัดความยากจน

ด้วยคาดว่าตลอดทั้งปี พ.ศ.2565 จะเป็นปีที่ประชาชนเดือดร้อนสาหัส จากผลพวงโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดต่อเนื่อง ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพด้านสังคม นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงกำชับให้ “พม.ทำเต็มที่”

โดยเฉพาะการช่วยประชาชนอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมทักษะอาชีพใหม่ๆ ตอบโจทย์โลกใหม่หลังโควิด-19 และโลกแห่งความเปราะบาง ไม่แน่นอน ยุ่งยากซับซ้อน หรือเรียกว่า “วูก้าเวิลด์” (VUCA World) ซึ่งเมื่อกลุ่มเปราะบางมีทักษะและศักยภาพ ก็จะมีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่การคลี่คลายปัญหาอื่นๆ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว หนี้สินครัวเรือน เป็นต้น

อีกทั้งปีนี้ที่ พม.นำร่องกลไกระดับตำบล คือ “ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล” ให้เป็นศูนย์แก้ปัญหาสังคมเบ็ดเสร็จในที่เดียวระดับตำบล ซึ่งปรับบทบาทกลไกระดับตำบลของแต่ละกรม จากที่เคยแยกดูแลเฉพาะกลุ่มเป้าหมายตัวเอง ให้มาดูแลทุกคน โดยให้มีตำบลละ 1 แห่ง เริ่มนำร่องปีนี้ 3,090 แห่ง ใน 26 จังหวัด

และด้วยเป็นปีท้ายๆ ของรัฐบาล รมว.พม.จึงเน้นตามข้อกำชับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมว่า “ปี 2565 จะเน้นผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์”

Advertisement

ฉะนั้นถือโอกาสส่องแผนการดำเนินงานด้านสังคมปี 2565 ของกระทรวง พม.ผ่าน 5 กรม ที่ดูแลคนทุกช่วงวัย ดังนี้

นายจุติ ไกรฤกษ์
ภาพประกอบ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม.นำผู้บริหาร พม.ลงพื้นที่

 

ปั้นเด็กไทยเกิดน้อยแต่มีคุณภาพ

Advertisement

เริ่มที่ นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่า จะเป็นปีที่ ดย.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครอบครัว และชุมชน ช่วยกันดูแล คุ้มครอง และพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ แม้ประเทศไทยจะประสบสถานการณ์เด็กเกิดน้อย แต่จะเป็นการเกิดน้อยที่มีคุณภาพ

ปีนี้ ดย.แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็นช่วงๆ เพื่อดูแลและพัฒนา ตั้งแต่กลุ่มปฐมวัย (0-6 ขวบ) ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองของชีวิต จะส่งเสริมให้ได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างใกล้ชิด ส่วนกลุ่มเด็กและเยาวชน จะส่งเสริมให้มีทักษะพร้อมรับศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรเข้ามาในชีวิต เด็กและเยาวชนไทยก็จะรู้ทันและผ่านไปได้ ขณะที่กลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และถูกกระทำความรุนแรงต่างๆ ดย.ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (Child Protection System : CPIS) มีระบบการแจ้งเหตุให้ความช่วยเหลือ ปีนี้จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองดูแลเด็กให้ครบทุกมิติ ผ่านการมีเคสเมเนเจอร์คอยให้การช่วยเหลือ ประสานการดูแลทุกมิติตั้งแต่กาย จิต รวมถึงมิติด้านการศึกษา สาธารณสุข อาชีพรายได้ ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการของรัฐแล้ว ก่อนติดตามหลังการช่วยเหลือ

  “ปีนี้ยังเป็นปีที่ ดย.เน้นใช้ดาต้าที่มีคือ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดมาวิเคราะห์ เช่น ข้อมูลที่พบแม่วัยใส 2.4 แสนคน แยกเป็นแม่วัยใสที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว 1.4 หมื่นคน เราจะโฟกัสกลุ่มนี้เพื่อให้การช่วยเหลือให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นจริงๆ ทั้งการไม่ถูกริดลอนสิทธิทางการศึกษา อีกทั้งได้รับการส่งเสริมทักษะอาชีพและมีรายได้เสริม ตามที่เด็กสนใจและตรงกับบริบทพื้นที่ และทักษะการเลี้ยงลูกอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยทั้งแม่และลูก ถือว่าทำน้อยแต่ได้มาก” นางจตุพรกล่าว 

นางจตุพร โรจนพานิช

 

สร้างอาชีพสตรีพึ่งตัวเองได้-ครอบครัวก็เข้มแข็ง

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กล่าวว่า นอกจาก 74 หลักสูตรฝึกอบรมอาชีพ ปีนี้ สค.ยังเตรียมฝึกอาชีพใหม่แก่กลุ่มเป้าหมาย ผ่านโครงการ “อาชีพใหม่ ชีวิตใหม่” เช่น เชฟอาหารไทย แคร์กีฟเวอร์ดูแลผู้สูงอายุ สปากระเป๋าลักซูรี่ ช่างผมผู้เชี่ยวชาญด้านทรงผม เป็นต้น ซึ่ง สค.ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทยอยจัดฝึกอบรมให้กลุ่มเป้าหมาย ก่อนมีการจัดประเมินมาตรฐานวิชาชีพ และประกาศรับรองเป็นแรงงานที่มีมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ

ปีนี้ สค.ได้ร่วมมือกับกรมธุรกิจการค้า ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนเทคนิคการทำธุรกิจ การทำบัญชี แก่ผู้เข้าฝึกอบรมอาชีพกับ สค.ทุกหลักสูตรอาชีพเป็นปีแรก ขณะเดียวกันเป็นปีที่เน้นให้การช่วยเหลือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 3 แสนกว่าคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ให้มีทักษะ 4 ด้าน เช่น มีอาชีพ รู้ทันการเงิน มีความคิดเชิงบวก เป็นต้น เพราะการช่วยแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็เหมือนได้ช่วยเด็กด้วย

ส่วนปัญหาใหญ่ “ความรุนแรงในครอบครัว” สค.ไม่ลืม ปีนี้เดินหน้าทบทวนและรื้อฟื้นกลไกเครือข่ายการทำงาน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำอย่างไรจะสร้างความมั่นใจแก่ผู้หญิงถูกกระทำ ให้ไปแจ้งความและได้รับความยุติธรรม เนื่องจากการความคุ้มครองตามกฎหมาย จะเริ่มต้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความ

  “ปีนี้เราจะส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถพึ่งพาตัวเองได้ จากการฝึกอบรมทักษะ เพื่อให้ผู้หญิงมีอาชีพ มีรายได้ จะได้ไม่ต้องทุกข์ทนถูกทำร้าย ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงระบบแจ้งเหตุและช่วยเหลือ ว่าหลังจากโทรขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่จะต้องโทรกลับภายใน 24 ชั่วโมง และแต่ละจังหวัดจะต้องมีเคสเมเนเจอร์ เพื่อประสานและติดตามช่วยเหลือเคส” 

ปีนี้ยังเป็นปีสำคัญการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับครอบครัวและเพศที่ สค.ดูแล เช่น เตรียมจัดประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ รวมถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทํารุนแรงในครอบครัวฯ ที่จะยกร่างใหม่ควบคู่ไปด้วย ส่วน พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณีฯ ซึ่งจัดประเมินผลสัมฤทธิ์แล้ว พบว่าภาคประชาชนอยากให้ค้าประเวณีถูกกฎหมาย และมีการคุ้มครองแรงงาน แต่เจ้าหน้าที่ยังอยากให้ผิดกฎหมาย เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความเห็นเชิงลึก ก็จะเห็นความชัดเจนในปีนี้

นางจินตนา จันทร์บำรุง

 

ปีแห่งสังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กล่าวว่า ตามที่ผู้สูงอายุหลายท่านต่างได้รับผลกระทบโควิด-19 ปีนี้ ผส.จึงมีโครงการ “สังคมสูงวัยหลังภัยโควิด-19” เพื่อส่งเสริมผู้สูงอายุ ทั้งมิติการมีงานทำ ดูแลสุขภาพ ตลอดจนการอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชน อีกทั้งจะเป็นปีที่ ผส.ลงพื้นที่เชิงรุกไปหาผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านกลไกเครือข่ายอาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อพาผู้สูงอายุที่ตกหล่นมารับ 10 สวัสดิการที่เกี่ยวข้อง และให้การช่วยเหลือ และจากสถานการณ์โรคระบาดและความขัดแย้งต่างๆ ปีนี้จึงเป็นปีที่ ผส.จะลดช่องว่างระหว่างวัย ผ่านการสร้างความคิดเชิงบวกให้แก่ตัวผู้สูงอายุ ผู้ดูแล ตลอดจนสังคม ให้มีความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น

  “ปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) หรือมีประชากรสูงอายุมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ฉะนั้นจะเป็นปีที่ ผส.ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุให้เดินไปไกลกว่านี้” นางสุจิตรากล่าว

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์
ภาพประกอบ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม.นำผู้บริหาร พม.ลงพื้นที่

 

มอบสิทธิ-สวัสดิการ ‘คนพิการ’ เชิงรุก

  นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ดูแลคนพิการจำนวนหนึ่งเสียชีวิต หากนำคนพิการเข้ามาดูแลในสถานสงเคราะห์ จะต้องเข้าคิวรอซึ่งขณะนี้มีถึง 6-7 ร้อยคิว ปีนี้จึงเป็นครั้งแรกที่กับการจัดหาครอบครัวอุปการะ เพื่อเป็นครอบครัวทดแทนให้คนพิการที่ไม่มีใครดูแล ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในชุมชนที่คุ้นเคย ทั้งนี้ จะทดลองทำในคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล หรือเด็กพิการในสถานสงเคราะห์ ที่ไม่สามารถตามหาพ่อแม่เจอแล้ว ประมาณ 100 คน ขณะที่ครอบครัวอุปการะจะได้เงินตอบแทนจากรัฐ เช่น เงินค่าดูแล 3 พันบาทต่อคนต่อเดือน ค่าอุปโภคบริโภคและค่าอุปกรณ์ เป็นต้น และมีการติดตามทุกเดือน

พก.ยังตั้งเป้าหมายปีแห่งการ “ปฏิรูปงานด้านคนพิการ” ตั้งแต่การค้นหาคนพิการเชิงรุกตามชุมชน ใครตกหล่นนำมาขึ้นทะเบียนคนพิการ เพื่อรับสิทธิ สวัสดิการ และการคุ้มครองต่างๆ อีกทั้งขยายพื้นที่โรงพยาบาลให้สามารถตรวจรับรอง และออกบัตรคนพิการจบในที่เดียวครบทั้ง 77 จังหวัด ภายในเดือนสิงหาคม 2566 จากปัจจุบันที่ทำได้แล้วใน 40 จังหวัด ที่สำคัญเตรียมแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ สาระส่วนหนึ่งคือการปรับเกณฑ์พิจารณาการออกบัตรคนพิการให้ชัดเจนและง่ายขึ้น

“ปีนี้ยังได้ปฏิรูปบัตรคนพิการ เป็นบัตรคนพิการดิจิทัลผ่านแอพพลิเคชั่น บัตรคนพิการ-PWD ซึ่งสามารถใช้แทนบัตรคนพิการได้เลย ภายในยังระบุข้อมูลสิทธิและสวัสดิการที่ได้แล้ว ที่ยังขาด อีกทั้งยังเชื่อมตลาดงานคนพิการ กู้ยืมเงินออนไลน์ ตลอดจนมีการชี้เป้าหน่วยงานช่วยเหลือคนพิการที่ใกล้ที่สุดผ่านกูเกิ้ลแมป แต่ส่วนคนพิการที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ยังสามารถใช้บัตรคนพิการได้ปกติ”

อธิบดี พก. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่ พก.มุ่งฝึกอาชีพใหม่ และอาชีพเก่าที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นล้วนเป็นอาชีพที่เคลื่อนไหวออกจากที่พักอาศัยน้อย เช่น อาชีพที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี วิเคราะห์และจัดการข้อมูล ขายของออนไลน์ เกษตรกรรม เป็นต้น แก่คนพิการ โดย พก.ได้ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนส่งเสริมคนพิการครบวงจร ตั้งแต่สนับสนุนองค์ความรู้ สร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางตลาด ทั้งนี้ เพื่อให้คนพิการสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ จากการมีอาชีพและรายได้ และสามารถเป็นที่พึ่งแก่ครอบครัวต่อไป

นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ

 

สร้างอาชีพ ‘กลุ่มเปราะบาง’ ตัดวงจรยากจน-ยากลำบาก

นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวว่า ปีนี้ พส.ได้สร้างเงื่อนไขแก่ผู้ประสบปัญหาทางสังคม ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ว่าหากขอรับความช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ 3,000 บาทแล้ว ผู้นั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น ต้องดูแลสุขภาพตัวเอง ด้วยการไปพบแพทย์ตามนัด หากเป็นผู้ว่างงาน จะต้องไปขึ้นทะเบียนว่างงาน เข้าร่วมการฝึกอาชีพด้วย เป็นต้น โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ลงไปให้คำปรึกษา และติดตามการช่วยเหลือ

  “จากนี้จะไม่ช่วยเฉพาะหน้าให้เงินสงเคราะห์แล้วจบๆ ไป แต่เราต้องการให้เขายืนได้ จากการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ มีรายได้อาชีพ ที่อยู่อาศัย และสุขภาพที่ดี”

ยังเป็นปีที่ พส.มีความจริงจังในการตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่นใน “ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยในนิคมสร้างตนเอง” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 2 แสนกว่าครัวเรือนใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ แยกเป็น 2 หมื่นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน (บีซีแอล) และภาคีเครือข่าย ส่งเสริมประชาชนน้อมนำศาสตร์พระราชา ตั้งแต่การปลูกพืชผสมผสาน พืชยังชีพ ปศุสัตว์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย อีกทั้งนำลูกหลานในนิคมที่เป็นเด็กไม่ชอบเรียน คัดเลือกมาเรียนรู้แบบเข้มข้นในหลักสูตรเกษตรวิถีใหม่ ใช้เวลา 2 ปี เรียนจบมีวุฒิบัตรการศึกษาให้ด้วย

ส่วนปัญหาที่แก้ไม่จบ แต่จะเดินหน้าจริงจังในปีนี้คือ “คนไร้บ้านหรือคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” จะแยกกลุ่มและทยอยแก้ไขไปทีละกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มคนไร้บ้านเทียม หรือคนตกงาน ถูกไล่ออกจากบ้านเช่า คนรักอิสระชอบนอนในที่สาธารณะ จะเสริมพลัง แก้ปัญหา และชวนกลับบ้าน จากนั้นกลุ่มจิตประสาท และกลุ่มอื่นๆ จะใช้นวัตกรรมคูปองปัจจัยสี่ เพื่อจูงใจคนเหล่านี้ไปใช้บริการหน่วยงานที่รองรับ นำไปสู่การพูดคุยให้คำปรึกษา แก้ปัญหา และชวนกลับบ้าน ขณะเดียวกันพยายามลดจำนวนคนไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง ที่ปัจจุบันมีถึง 4.5 พันคน ด้วยการคัดเลือกคนที่มีความพร้อม ส่งไปประกอบอาชีพ มีรายได้ เพื่อคืนสู่ชุมชนและครอบครัว ซึ่งจะดำเนินกับภาคเอกชน

อธิบดี พส.ยังมองการณ์ไกลผลักดันให้มีตำแหน่ง “นักสังคมสงเคราะห์” ในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งทั่วประเทศ เพราะเชื่อว่าวิชาชีพนี้จะช่วยเฝ้าระวัง คลี่คลายปัญหาด้านสังคมต่างๆ ได้ตั้งแต่ชุมชน

  ปีแห่งความท้าทายงานพัฒนาสังคม

นายอนุกูล ปีดแก้ว
ภาพประกอบ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม.นำผู้บริหาร พม.ลงพื้นที่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image