โควิดไทยระลอกม.ค.65 คาดติดเชื้อเพิ่ม 1.5-3 หมื่นราย แนะโรงงานคุมเข้ม

สธ.ประกาศโควิดไทยระลอกม.ค.65 คาดติดเชื้อเพิ่ม 1.5-3 หมื่นราย แนะโรงงานคุมเข้ม

เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมแถลงอัพเดตสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อใหม่ 1.7 ล้านราย ขึ้นจากเดิมที่เคยเฉลี่ยวันละ 2 แสนราย สะสม 307 ล้านราย ผู้เสียชีวิต 3,189 ราย หากดูเป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่าแม้ติดเชื้อมากขึ้น แต่เสียชีวิตอัตราลดลง ไม่ได้มากขึ้นตาม เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่อาการรุนแรงก็ลดลง สำหรับไทยเป็นการระบาดในระลอกเดือนมกราคม 2565 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน

“วันนี้พบผู้ติดเชื้อใหม่ 7,926 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 13 ราย จะเห็นได้ว่า ขณะที่เราติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 2-3 พันราย แต่ผู้เสียชีวิตประมาณ 2 ราย ดังนั้น ตอนนี้ แม้ติดเชื้อมากขึ้น แต่การเสียชีวิตลดลง สอดคล้องกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แม้วันนี้มีรายงานเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มลดลง เป็นการบอกว่า โรคอาจติดง่าย แต่การทำอันตรายถึงกับเสียชีวิตลดความรุนแรงลงมาก” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

Advertisement

ปลัด สธ. กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์ใน 3 ฉากทัศน์ ที่จะเกิดขึ้นตามมาตรการต่างๆ นั้น พบว่าขณะนี้การแพร่โรคค่อนข้างขึ้นมาเร็ว เป็นไปตามเส้นสีเทา คือ พบการติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 15,000-30,000 ราย ซึ่งหากมาตรการที่เรามีอยู่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างดี ก็จะสามารถควบคุมโรคได้ดี ทั้งนี้ สธ.พยายามกดการติดเชื้อให้ลงไปตามลำดับ ขณะเดียวกัน การคาดการณ์ผู้เสียชีวิต กรณีที่ควบคุมไม่ดี ติดเชื้อมาก อัตราเสียชีวิตก็จะอยู่ในเส้นสีเทา หรือ เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 100-180 ราย ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นสีเขียวเล็กน้อย เฉลี่ยวันละ 20-60 ราย ถือว่าอัตราลดลง

“การระบาดระลอกนี้ เพิ่มขึ้นหลังจากมีสายพันธุ์โอมิครอนในต้นเดือนธันวาคม 2564 เมื่อผ่านมาระยะหนึ่ง มีการระบาดโดยเฉพาะช่วงปีใหม่ จำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทาง สธ.จึงปรับระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 4 เพื่อขอความร่วมมือทุกภาคส่วนเคร่งครัดมาตรการ สวมหน้ากากอนามัย งดไปสถานที่เสี่ยง ชะลอการเดินทาง ขอความร่วมมือองค์กรต่างๆ ทำมาตรการเวิร์ก ฟรอม โฮม (Work from home) ตรวจ ATK สม่ำเสมอ และเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 เพื่อให้มีภูมิต้านทานเพียงพอ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สถานประกอบการก็ต้องเคร่งมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง (Covid Free Setting) ที่รอบนี้พบในร้านอาหารกึ่งผับที่มาตรการไม่เพียงพอ ทำให้เกิดระบาดได้ สำหรับโรงงานนั้น คาดว่าจะเกิดการระบาดในระยะถัดไป จึงขอผู้ประกอบการพยายามทำความเข้าใจ เคร่งครัดมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) ด้วย

Advertisement

เมื่อถามถึงศูนย์ประสานงานแต่ละจังหวัด เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อหลังการตรวจ ATK เป็นบวก นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากตรวจที่คลินิก รพ. หรือสถานพยาบาล เมื่อเป็นบวกทางผู้ตรวจจะจัดการให้ ส่วนต่อมาคือ การตรวจด้วยตัวเอง สามารถติดต่อที่เบอร์สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งในกรุงเทพฯ จะดำเนินการได้ค่อนข้างดี ส่วนต่างจังหวัดอาจต้องใช้เวลาเล็กน้อย

“โดยเราก็ไม่แน่ใจว่าหากระบาดมาก มีผู้โทรศัพท์เข้ามาแล้วจะพอหรือไม่ ทาง สธ. ระดับจังหวัดก็อยากช่วย 1330 ก็เลยจัดศูนย์ประสานงานระดับจังหวัด มีคอลเซ็นเตอร์ตรงกลาง ทำลักษณะเดียวกับ 1330 โดยสั่งการไปที่จังหวัดแล้วให้มีคอลเซ็นเตอร์ทุกจังหวัด เป็นเบอร์สำรอง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image