อย.ย้ำ! ฉีดวัคซีนเด็กเล็กตามความสมัครใจผู้ปกครอง ไทยยังมีแค่ไฟเซอร์

อย.ย้ำ! ฉีดวัคซีนเด็กเล็กตามความสมัครใจของผู้ปกครอง ไทยยังมีแค่ไฟเซอร์

เมื่อวันที่ 12 มกราคม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ประเด็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุญาตการขยายช่วงอายุใช้วัคซีนในเด็ก อายุ 5-12 ปี เป็นวัคซีนไฟเซอร์ โดยจะมีขนาดยาต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคแจ้งว่า บริษัทจะจัดส่งวัคซีนสำหรับการฉีดให้เด็ก ถึงประเทศไทยปลายเดือนมกราคมนี้ และจะพร้อมฉีดในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“ตัวยาเป็นชนิดเดียวกันกับผู้ใหญ่ เพียงแต่บริษัทผู้ผลิตฯ ปรับสูตรการผสมน้ำกลั่น และความคงตัวที่ทำให้วัคซีนเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซสเซียส ได้นาน 2 เดือน ซึ่งเป็นข้อดีว่าจะใช้และเก็บรักษาได้ง่ายขึ้น” นพ.สุรโชคกล่าว

รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า สำหรับวัคซีนเชื้อตายซิโนแวคและซิโนฟาร์มนั้น ขณะนี้ผู้ผลิตซิโนแวคที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้า ส่งเอกสารเรื่องความปลอดภัยในระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 มาแล้ว เหลือเอกสารด้านประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ผลิตเก็บข้อมูลใน 4 พื้นที่ ใช้เวลาศึกษาตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งเข็มที่ 1 จะฉีดห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 1 เดือน และจะต้องเก็บข้อมูลว่า หลังฉีด 1 เดือนแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงอย่างไร

“โดยเบื้องต้นจะใช้เวลาเร็วที่สุดคือ 2 เดือน ดังนั้น อย.ก็ได้แจ้งกับ อภ.ว่าให้ติดต่อกับผู้ผลิตในประเทศจีน เพื่อติดตามเอกสารในส่วนนี้ คาดว่าจะได้ข้อมูลมาครบ ไม่น่าจะเร็วกว่าปลายเดือนมกราคมนี้ ข้อดีของซิโนแวค คือ วัคซีนที่นำไปศึกษาในเด็ก เป็นตัวเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งเรามีอยู่ในคลังแล้ว ตรงนี้จะต่างจากไฟเซอร์ที่ต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับเด็ก” นพ.สุรโชคกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ปกครองบางคนไม่มั่นใจวัคซีนไฟเซอร์ เพราะมีข่าวว่าเด็ก 12 ปีขึ้นไป ฉีดแล้วมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง นพ.สุรโชคกล่าวว่า การฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก 5 ปีขึ้นไป อย่างน้อยตอนนี้มีวัคซีนไฟเซอร์แน่ๆ แต่ซิโนแวค ต้องรอข้อมูล เพราะต้องดูว่าภูมิต้านทานขึ้นดีหรือไม่ หากไม่ดี หรือการศึกษาไม่สำเร็จก็จะไม่ได้ใช้

“ดังนั้น อย.ประเมินของไฟเซอร์ไปแล้ว ซึ่งที่ฉีดของเด็ก 12-18 ปี พบว่าผลข้างเคียงไม่ได้มากกว่าที่เรากลัวกัน ไม่ค่อยพบปัญหา และโดสเด็กเล็กใช้ลดลง เราก็ประเมินว่ามีความปลอดภัย ทั้งนี้ การฉีดจะเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง” นพ.สุรโชคกล่าว

เมื่อถามว่า สำหรับข้อมูลประสิทธิวัคซีนซิโนแวคในเด็ก ผู้ผลิตได้ยืนยันหรือไม่ว่าจะรองรับสายพันธุ์โอมิครอนได้ นพ.สุรโชคกล่าวว่า การประเมินประสิทธิภาพวัคซีน เราจะดูเรื่องระดับภูมิคุ้มกันภาพรวม และต่อสายพันธุ์ต่างๆ แต่ด้วยการเก็บข้อมูลเริ่มใน 4 พื้นที่ เช่น ชิลี โดยเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2564 ตอนนั้นยังไม่มีการระบาดของโอมิครอน ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมีข้อมูลประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อื่นๆ ระบุไว้ ก็จะประเมินในส่วนของโอมิครอนได้เช่นกัน เหมือนที่มีการศึกษาวัคซีนแต่ละชนิด

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image